NEWS FEED
สุขภาพดีระยะยาวต้องเริ่มจากการป้องกันแต่ต้นเหตุ
การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามวัยต่างๆ  ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง คือตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา จนถึงระยะคลอด    เรียกว่าระยะก่อนเกิด ( Prenatal  stage )  เมื่อคลอดออกมาแล้วแบ่งวัย  ออกได้เป็น 5  วัย   ดังนี้ ( มีหลายตำรา ที่แตกต่างกันในเรื่องการแบ่งวัย )
1.  วัยทารก   เริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ  2  ปี
2.  วัยเด็ก   เริ่มตั้งแต่อายุ  2 – 12  ปี
3.  วัยรุ่น    อายุ 12 - 20 ปี
หญิง เข้าสู่วัยรุ่นอายุ  12  ปี   
ชาย  เข้าสู่วัยรุ่นอายุ 14  ปี
4. วัยผู้ใหญ่    อายุ 21  ปี ขึ้นไป    
5. วัยสูงอายุ (วัยชรา)   ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
วัยทารกเป็นวัยที่เจริญเติบโตจนเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ทารกจะสามารถปรับตัวเข้ากับบุคคลและสภาพแวดล้อมรอบๆ ได้อย่างรวดเร็วแต่ทารกยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงต้องการการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก ความนุ่มนวล อ่อนโยนจากผู้เลี้ยงดูทารกที่ได้รับความรักความอบอุ่นเพียงพอ จะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว มีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลทั่วๆไป ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการมีบุคลิกภาพที่ดีในช่วงวัยต่อ ๆ ไป

ดูแลสุขภาพ 4 ช่วงวัย

โดย...อ.นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม        
การดูแลสุขภาพ ย่อมดีกว่าการมาหาหมอเพื่อรับการรักษา แต่จะดูแลอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีในทุกช่วงวัย มีรายละเอียดมาฝากครับ        
การดูแลตนเองและคนที่คุณรักให้มีสุขภาพดี ครอบคลุมทุกช่วงอายุ จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นสำคัญ โดยเด็กเล็ก เน้นในเรื่องพัฒนาการและการเรียนรู้ วัยรุ่น เน้นทางด้านจิตใจและสังคม วัยทำงาน เน้นการดูแลพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนผู้สูงอายุ เน้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง 

เริ่มต้นสุขภาพดี
ช่วงที่ 1 อายุ 0-6 ปี เริ่มจากหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์และตรวจสม่ำเสมอ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับการดูแลและคลอดอย่างปลอดภัยโดยแพทย์ จากนั้นจนถึงอายุ 6 ปี ทารกต้องได้รับวัคซีนพื้นฐานครบถ้วน และได้รับการตรวจทางด้านพัฒนาการ การเรียนรู้ และพฤติกรรมต่างๆ 

ช่วงที่ 2 อายุ 7-18 ปี สิ่งที่สำคัญ คือ การเตรียมตัวให้วัยนี้เป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ มีอารมณ์ที่แจ่มใส มีภูมิคุ้มกันทางความคิด สามารถดูแลตนเองให้ห่างไกลจากยาเสพติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป        

ช่วงที่ 3 อายุ 19-60 ปี เป็นวัยทำงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวถึง 40 ปี มักมีเวลาในการดูแลสุขภาพตนเองน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ โดยวัยนี้มักเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคจากบุหรี่ สุรา หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ โรคเครียด เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าสู่วัย 60 ปี เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี        

ช่วงที่ 4 อายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป วัยนี้ถือเป็นวัยสูงอายุ นอกจากมีความเสื่อมถดถอยของร่างกายแล้ว บางรายยังมีโรคประจำตัวด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรรับการตรวจรักษาสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง ก็จะทำให้มีสุขภาพดีได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับผู้สูงอายุทั่วไป ที่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายทุกวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด

ปัญหาสุขภาพ

ในปี พ.ศ.2540 เด็กวัยนี้ จำนวน 5,375 ล้านคน มีเด็กเกิดน้อยลง และรอดตายมากขึ้น และยังพบว่า มีเด็กจำนวนหนึ่งมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย อัตราการตายในเด็ก 0.4 ปี ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.0 สาเหตุการตาย 5 อันดับแรก คือ ปัญหาเกี่ยวเนื่องจากการคลอด รูปวิปริตแรกเกิด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคระบบทางเดินอาหาร

สถานการณ์ด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากรในกลุ่มเด็ก 0-4 ปี ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหา การกระจายตัวของปัญหา สาเหตุ และความรุนแรงในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การตายปริกำเนิด (Perinatal mortality) การตายปริกำเนิด คือ การที่ทารกตาย นับตั้งแต่อยู่ในครรภ์ครบ 22 สัปดาห์เต็ม ถึงน้อยกว่า 7 วันหลังคลอดการตายปริกำเนิด เป็นตัวชี้วัดให้บริการอนามัยแม่และเด็ก สุขภาพแม่และเด็ก รวมไปถึงสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ในระดับต่างๆ จนถึงระดับชาติ

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความ ของอัตราตายปริกำเนิด (Perinatal mortality rate) ไว้ดังนี้ อัตราตายปริกำเนิด คือ จำนวนการตายของทารก ที่มีน้ำหนักอย่างน้อย ระหว่าง 500-1,000 กรัม หรืออายุครรภ์อย่างน้อย 22 สัปดาห์ หรือวัดความยาวจากศีรษะถึงส้นเท้า 25 ซม. หรือมากกว่า (Fetal deaths) รวมกับ จำนวนทารกแรกเกิด ถึงน้อยกว่า 7 วันตาย (Early neonatal deaths) ต่อ 1,000 การเกิด

อัตราตายปริกำเนิด จากรายงานของโครงการเพิ่มพูนสมรรถนะฯ มีแนวโน้มลดลง จาก 14.02 ต่อ 1,000 การเกิดทั้งหมด ในปี พ.ศ.2533 เป็น 9.8 ต่อ 1,000 การเกิดทั้งหมด ในปี พ.ศ.2540







อัตราตายปริกำเนิดในปี พ.ศ.2533 พบมากที่สุดในภาคเหนือ 30.8 ต่อ 1,000 การเกิดทั้งหมด รองลงมาคือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น 16.0 และ 12.2 ต่อ 1,000 การเกิดทั้งหมด ตามลำดับ ภาคกลางมีอัตราตายปริกำเนิดน้อยที่สุด ร้อยละ 10.5 ต่อ 1,000 การเกิดทั้งหมด ในปี พ.ศ.2540 อัตราตายในภาคต่างๆ ยังคงพบมากที่สุดในภาคเหนือ พบ 12.3 ต่อ 1,000 การเกิดทั้งหมด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 9.5 สำหรับภาคกลางพบน้อยที่สุด ลดลงเหลือร้อยละ 8.9 (กราฟ 2.2)









2.ภาวะขาดโภชนาการ กราฟมาตรฐานน้ำหนัก เทียบกับอายุเด็กไทย (อายุ 0-5 ปี)
กองโภชนาการ กรมอนามัย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้เริ่มจัดทำมาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูงของเด็กไทย อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยจะสร้างเป็นเส้นกราฟ เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานของเด็กไทย ในการประเมินภาวะโภชนาการ ต่อมาได้มีการปรับมาตรฐานอีกเล็กน้อย หลังจากได้มีการสำรวจ เพื่อจัดทำมาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็กไทยอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2528-2529 ซึ่งได้ใช้เป็นมาตรฐานน้ำหนัก และส่วนสูงของเด็กไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ (แผนภาพที่ 2.1) ซึ่งในขณะนี้กำลังมีการปรับเปลี่ยน กราฟมาตรฐานนี้ใหม่ คาดว่าจะนำมาใช้ในปี พ.ศ.2543







2.1 โรคขาดสารอาหารโปรตีน และกำลังงาน (Protein Energy Malnutrition) ระบบการเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ได้ทำการชั่งน้ำหนักเด็กกลุ่มเป้าหมาย จากทุกหมู่บ้านทั่วประเทศทุกๆ 3 เดือน ผลการชั่งน้ำหนักตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 จนถึงปี พ.ศ.2540 ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มของโภชนาการนั้นดีขึ้นตามลำดับ เมื่อพิจารณาการกระจายของปัญหาพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเด็กขาดสารอาหารมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ โดยคงสภาพเช่นนั้นมา ตั้งแต่เริ่มโครงการเฝ้าระวัง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลภาวะโภชนาการ แยกตามรายภาค ในปี พ.ศ.2525-2540 (กราฟ 2.6) ปัญหาสุขภาพวัยเรียน





ปัญหาสุขภาพในวัยเด็ก


เด็กวัยเรียนคือเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-19 ปี ซึ่งกำลังศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โรงเรียนเป็นที่รวมของเด็กนักเรียน ซึ่งมาจากที่ต่างๆกัน มีฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมอนามัยที่แตกต่างกันไป โรคที่พบในเด็กนักเรียนและอุบัติเหตุต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนทราบแนวทางปฏิบัติต่างๆ ในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ปลอดภัยได้

ประเภทของปัญหาสุขภาพแบ่งออกได้เป็นดังนี้ 1. ภาวะการเจริญเติบโตบกพร่อง นักเรียนประถมศึกษามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์สูง ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ สำหรับนักเรียนประถมศึกษาในเขตเมืองมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ( อ้วน )

2. ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

3. ภาวะการขาดสารไอโอดีนแสดงออกด้วยอาการคอพอก นักเรียนประถมศึกษาที่มีภาวะการขาดสารไอโอดีนแสดงออกด้วยอาการคอพอก

4. ปัญหายาเสพติด ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเริ่มใช้ยาเสพติดเมื่ออายุน้อยลงวัยรุ่นคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด พบสาเหตุ ส่วนใหญ่อยากลองและเพื่อนชวน แนวโน้มฝิ่น กัญชา ลดลง ยาบ้าเสพเพิ่ม ขึ้น ผลตรวจปัสสาวะ นักเรียนระบุชัด ภาคกลางเสพมากที่สุด ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติดมาช้านานโดยที่ สภาพปัญหาได้เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะการณ์ของโลกในยุคปัจจุบันได้แก่ เทคโนโลยีใหม่ ๆ การ ติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ผู้เสพสามารถใช้สารเสพติดได้ง่ายและสะดวกกว่าในอดีต รวมทั้งสภาพปัญหาได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ

5. ภาวะทันตสุขภาพ 
  5.1 โรคฟันผุ  พบอัตราโรคฟันผุในนักเรียนเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าอัตราฟันผุในฟันน้ำนมของ นักเรียนกลุ่มอายุ 3 ปี จะน้อยกว่ากลุ่มอายุ 6 ปี และในทำนองเดียวกัน นักเรียนกลุ่มอายุ 12 ปี จะมีอัตรา ฟันผุของฟันแท้น้อยกว่านักเรียนกลุ่มอายุ17 - 19 ปี
   5.2 โรคเหงือก        

6. ความผิดปกติที่พบเสมอในเด็กนักเรียน 
   6.1 ความผิดปกติของอวัยวะการเรียนรู้ มีนักเรียนสายตาผิดปกติร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสายตาผิดปกติมากที่สุด ( ส่วนอนามัยเด็กวัยเรียนและเยาวชน , 2544)  
   6.2 โรคที่เป็นผลจากสุขวิทยาส่วนบุคคลไม่ดี โรคเหา เกลื้อน กลาก

7. ภาวะการเจ็บป่วย
   7.1 โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน  เป็นโรคไอกรน โรคคางทูม โรคหัด และคอตีบ
   7.2 โรคติดเชื้อ โรคติดต่อที่พบมากที่สุดในเด็กวัยเรียน (5 - 14 ปี ) ในปี พ . ศ . 2540 คือ ไข้เลือดออก รองลงมาคือ ไข้สมองอักเสบ และโรคมาลาเรีย โรคอุจจาระร่วง

8. ภาวะพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น 
   8.1 อุบัติเหตุ ในปีหนึ่ง ๆ มีวัยรุ่นตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ ประมาณ 3,000 ราย ในจำนวนนี้ จะเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง7 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นมากกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะใช้รถจักรยานยนต์ และมีวัยรุ่นน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะใช้รถยนต์ รถยนต์ ส่วนอัตราตายของเด็กและเยาวชนด้วยอุบัติเหตุจากการขนส่งทางบก มีจำนวนสูงขึ้น

9. เรื่องเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ /HIV/ เอดส์ 
  - ผู้ป่วยเอดส์ กามโรค การทำมีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องเพศ และสารเสพติด มีเพศสัมพันธ์     

10. ปัญหาสุขภาพจิต เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร มีการทะเลาะเบาะแว้งและใช้ความรุนแรงในครอบครัว เคยถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวถูกล่วงเกินทางเพศจากบุคคลในครอบครัว

สาเหตุของปัญหาสุขภาพในวัยเรียน

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สาเหตุอันเกิดจากปัจจัยภายใน
1. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
· เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนาโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติทางร่างกายของเด็กเอง
· โรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้ประเภทต่างๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้สัตว์ปีก ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในบางกรณี

2. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
สำหรับปัจจัยภายนอก สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งปัญหาที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่ มักเกิดจากเหตุดังต่อไปนี้
· การติดเชื้อ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งสามารถแพร่จากคนสู่คนได้อย่างง่ายดายผ่านการสัมผัส (Cross-infection)
· การเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง ตั้งแต่หลังคลอด ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของอาหารการกิน ไปจนถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของลูก
· เด็กขาดประสบการณ์หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
· อุบัติเหตุประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเกิดจากการหกล้มเพียงเล็กน้อย หรืออาจรุนแรงถึงอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือชีวิต
· การได้รับสารพิษ
· การรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอ

จะเห็นว่าจากกระแสโลกาภิวัฒน์ เนื่องมาจากการเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของเด็กวัยเรียนและเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ที่สำคัญมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จากกระแสค่านิยมและวัฒนธรรมตะวันตก นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว สังคมแวดล้อมภายในและภายนอกโรงเรียน สภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน เช่น ปัญหายาเสพติด ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เพื่อน เอดส์ เพศสัมพันธ์ สุขภาพ จริยธรรม อุบัติเหตุ สื่อยั่วยุ สิ่งแวดล้อม ดังนั้นงานอนามัยโรงเรียน จึงเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ สร้างให้เด็กเกิดความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพ เป็นการลดปัญหาสุขภาพ ส่งผลบวกต่อการเรียน ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานจากทุกฝ่ายทั้งครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน


ปัญหาสุขภาพวัยรุ่น

การเป็นสิว
การมีกลิ่นตัว และโรคผิวหนัง
ความอ้วน ความผอม
ความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวชในวัยรุ่นหญิง เช่น ตกขาว 
การปวดประจำเดือน การมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดยา อุบัติเหตุและฆ่าตัวตาย





โรคทางร่างกายที่พบบ่อยในวัยรุ่น

โรคอ้วน
ภาวะน้ำหนักเกินในปัจจุบันพบได้มากขึ้นจนจัดได้ว่ามีการระบาดไปทั่วโลก ส่วนใหญ่ไม่พบสาเหตุทางกาย แต่มักเกิดจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารมากเกิน ออกกำลังหรือมีกิจวัตรที่ใช้พลังงานน้อย  จากการสำรวจเด็กวัยเรียนจากการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าประมาณ 1 ใน 10 มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน โดยมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม การเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม ดู TV เล่นInternet และ game online โดยไม่มีการควบคุม

โรคที่ตามมาจากภาวะโรคอ้วนมีหลายโรค เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งในวัยรุ่นไทยสูงเกินกว่า 3 เท่า ในช่วง 5 ปีหลัง เป็นร้อยละ 17.9 ของวัยรุ่นทั้งหมด เกิดภาวะผิวหนังรอยทับตามข้อพับ ความผิดปกติของการหายใจโดยมีการหยุดหายใจเป็นช่วงระหว่างการนอนหลับ(sleep apnea) และทางด้านจิตใจพบว่าคนอ้วนอาจมีภาวะซึมเศร้า และภูมิใจในตนเองน้อยลง การรักษา  

การรักษาโรคอ้วนหลักๆอยู่ที่ความตั้งใจของผู้ป่วยและความร่วมมือของครอบครัวโดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานในระหว่างวัน 

 สำหรับบทบาทของส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นมีหลายส่วน เช่น  โรงเรียนและสถานศึกษา ช่วยได้มากในเรื่องการจัดไม่ให้มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่หวานเกินไป การส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องและการสร้างเจตคติที่เหมาะสมเพื่อควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของหวาน 

พ่อแม่  สามารถจำกัดเวลากิจกรรมที่ใช้พลังน้อย เช่น การดู TV internet  ทั้งนี้ต้องเป็นลักษณะของการเสริมแรงทางบวก  การมีกิจกรรมร่วมกันในด้านกีฬา โดยชวนกันออกกำลังทั้งครอบครัว การออกกำลังนอกจากช่วยลดน้ำหนักแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการเติบโตใหม่ของเซลล์สมองซึ่งจะทำให้จิตใจสดชื่นด้วย


โรคภูมิแพ้


โรคภูมิแพ้เป็นสภาวะที่ร่างกายมีความไวต่อสารหรือสภาวะบางอย่างมาก ซึ่งร่างกายคิดว่าเป็นสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจึงทำงานอย่างเต็มที่ 

โดยทั่วไป อาการภูมิแพ้ที่พบบ่อยแสดงออก 3 ลักษณะ คือทางผิวหนัง ทางเดินหายใจส่วนบน(จมูก) ระบบหายใจ(ปอด)  โดยทางผิวหนังจะมีอาการผื่นแพ้เฉพาะจุดหรือทั่วทั้งร่างกาย ทางจมูกมีการค้ดแน่นหายใจไม่สะดวก มีน้ำมูก สารคัดหลั่ง  ระบบหายใจเป็นเรื่องหอบหืด

การป้องกัน
 การป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ การเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หากเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ในระยะเวลานานอาการภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจะห่างไปและเกิดอาการน้อย การจัดสภาพอากาศให้ดี ปลอดโปร่ง จะช่วยลดและบรรเทาอาการได้         
โรคผิวหนัง
ในวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการดำเนินกิจกรรมมาก เช่น กีฬา ออกกำลังกาย ซึ่งหากไม่รักษาความสะอาดและสุขอนามัยของร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น ผื่นจากเชื้อรา ผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเกิดอาการควรให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณา ไม่ควรหายามาทาหรือรักษาเองโรคผิวหนังบางประเภทหากใช้ยาไม่ถูกต้องอาจเกิดอาการกลับเป็นซ้ำหรือลุกลามมากขึ้น 


ปัญหาสุขภาพวัยผู้ใหญ่

วัยผู้ใหญ่
วัยผู้ใหญ่เริ่มตั้งแต่สิ้นสุดวัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 20-25 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้น หากวัยรุ่นแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยก็ก้าวเข้าสู้ความเป็นผู้ใหญ่เลย วัยผู้ใหญ่คือวัยที่รับผิดชอบการดำเนินชีวิตของตน โดยนำประสบการณ์ต่าง ๆที่ได้สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กมาใช้ในการปรับตัวและแก้ปัญหาชีวิต ผู้ที่ปรับตัวได้ดีในวัยผู้ใหญ่ คือ ผู้ที่ได้ผ่านพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยต่าง ๆมาตั้งแต่เด็กจนวัยรุ่น มีวุฒิภาวะ คือ ความสมบูรณ์ของร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา สามารถเผชิญชีวิตและอุปสรรค์ต่าง ๆ ทั้งยามปกติและยามคับขัน มีความรับผิดชอบ กระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผลตามทำนองคลองธรรม

วัยผู้ใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
1.วัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยหนุ่มสาว อายุ 20-25 ปีถึง 40 ปี วัยนี้มีพัฒนาการเต็มที่ของร่างกาย วุฒิภาวะทางจิตใจอารมณ์ พร้อมที่จะมีบทบาทที่จะเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนในเรื่องอาชีพ คู่ครอง และความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ อย่างมีความหมาย
2.วัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน อายุ 40 ปีถึง 60-65 ปี เป็นวัยที่ได้ผ่านชีวิตครอบครัวและชีวิตการงานมาระยะหนึ่ง มีความมั่นคงและความสำเร็จในชีวิต
3.วัยผู้ใหญ่ตอนปลายหรือวัยสูงอายุ อายุ 60-65 ปีขึ้นไป เป็นวัยของความเสื่อมถอยของร่างกาย สภาพจิตใจ และบทบาททางสังคม

การปรับตัวต่อความเสื่อมถอยและการเผชิญชีวิตในบั้นปลายเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของวัยนี้

การเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านร่างกาย
ระบบย่อยอาหารก็ทำงานลดลง การหลั่งน้ำย่อยและความต้องการพลังงานลดลง หากยังรับประทานอาหารเช่นเดิมจะมีผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิดภาวะอ้วนเกิน (obesity)
ระบบผิวหนังมีความยืดหยุ่นน้อยลง เริ่มมีรอยย่น โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า คอ และมือ ผมจะเริ่มร่วงและเจริญเติบโตช้า
สีผมจะเริ่มหงอกขาวเห็นชัดเจนเมื่ออายุ 50 ปีทั้งเพศชายและหญิง เนื่องจากสารเมลานิน (melanin) ที่สร้างจากรากผมมีจำนวนลดลง
ฟันจะหักและร่วงหลุด กระดูกเริ่มเปราะบางและหักง่ายเนื่องจากการสร้างกระดูกเกิดขึ้นน้อย
อวัยวะที่ทำหน้า ที่รับรู้และสัมผัส จะมีความเสื่อมเกิดขึ้น เช่น ตา เปลือกตาจะเหี่ยวย่น ดวงตาไม่สดใสเริ่มฝ้าฟาง เพราะเยื่อบุลูกตาและท่อน้ำตาเหี่ยว
ทำให้ขาดน้ำเลี้ยงลูกตากล้ามเนื้อควบคุมรูปของดวงตาจะขาดความกระชับลงเป็นลำดับ มีการเปลี่ยนแปลงที่แก้วตา แก้วตาไม่สามารถจะยืดหดตัวได้เหมือนก่อนๆ จึงไม่สามารถมองเห็นในระยะใกล้ได้ชัดเจน ส่วนใหญ่จะสายตายาว หลังอายุ 40 ปี จะมองไม่ชัดในที่มืดเนื่องจากมีการลดขนาดของรูม่านตา
จะมีปัญหาในการอ่านหนังสือและการขับรถในตอนกลางคืน อวัยวะเกี่ยวกับการได้ยิน คือ หู จะมีความเสื่อมของเซลล์ทำให้การทำงานของหูผิดปกติ การได้ยินเสียงแหลมจะเสียก่อน การได้กลิ่นจะเสื่อมลง

ปัญหาที่พบในวัยผู้ใหญ่
1.ปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยผู้ใหญ่ด้านร่างกาย ปัญหาการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ

ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการประกอบอาชีพ
โรคที่เกิดจากสิ่งคุกคามสุขภาพทางกายภาพ เช่น ความร้อน ความเย็น แสง เสียง การสั่นสะเทือน
โรคที่เกิดจากสิ่งคุกคามสุขภาพทางชีวภาพ เช่น โรคแอนแทรกซ์
โรคปอดชานอ้อย
โรคที่เกิดจากสิ่งคุกคามสุขภาพทางเคมี เช่น พิษจากตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ฝุ่นแร่ใยหิน ฝุ่นซิลิกา เบนซีน

2.ปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยผู้ใหญ่ด้านจิตใจ
- วิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมลง
- วิตกกังวลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ
- มีภาวะเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว
- วิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิตสมรส
- ปัญหาเกี่ยวกับปัญหาของบุตร

3.ปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยผู้ใหญ่ด้านสังคม - ปัญหาการปรับตัวในการประกอบอาชีพ - ปัญหาเรื่องการเลือกคู่ครอง - ปัญหาชีวิตสมรส - ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ - ปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อนใหม่
4.ปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยผู้ใหญ่ด้านจิตวิญญาณ มีความกดดันเนื่องจากไม่สามารถแสดงศักยภาพด้านสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดโอกาสในสังคมและที่ทำงานขาดการยอมรับ         ขาดที่พึ่งทางจิตวิญญาณเนื่องจากไม่สามารถจัดสรรเวลาไปปฏิบัติศาสนกิจได้ 5.อุบัติเหตุ 

โรคต่างๆในวัยผู้ใหญ่ - โรคติดเชื้อ วัยผู้ใหญ่มีโอกาสป่วยจากโรคติดเชื้อได้สูงพอๆ กับวัยอื่น โรคติดเชื้อที่สำคัญ ซึ่งพบเป็นอัตราตายรองลงมาจากอุบัติภัยคือไข้มาลาเรีย (กองสถิติสาธารณสุข 2531 : 187) ส่วน โรคติดเชื้ออื่น เช่น โรคปอดอักเสบ โรคติดเชื้อลำไส้ พบอัตราตายน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่น แต่เป็นโรคติดเชื้อที่มีอัตราป่วยสูง โรคติดเชื้อที่น่าจะให้ความสำคัญในวัยนี้คือ โรคติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ตา นอกจากโรคติดเชื้อดังกล่าวแล้ว โรคเอดส์นับเป็นโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญมากในวัยผู้ใหญ่ จากการรวบรวมข้อมูลของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ผลปรากฏว่า กลุ่มอายุที่มีการติดเชื้อเอดส์สูงสุดคือ กลุ่มอายุ 20-34 ปี เนื่องจากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์

-โรคไร้เชื้อ มีโรคไร้เชื้อเป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ โรคเหล่านี้กระจายอยู่ในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น โรคของระบบประสาท เนื้องอกในสมอง ลมชัก โรคของตา เช่น ต้อหิน เลือดออกในช่องหน้าลูกตา จอตาหลุด โรคของหู เช่น หูชั้นกลางอักเสบ แก้วหูทะลุ โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ไตพิการ ไตหย่อน นิ่ว โรคของระบบหัวใจ และหลอดเลือด ได้แก่ ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดดำอุดตันหลอดเลือดดำโป่งพอง โรคเลือด เช่น โลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื้องอกของต่อมน้ำเหลือง โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เบาหวาน โรคอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์ ไข่ปลาอุก การแท้งบุตร กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน และโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น


ปัญหาสุขภาพวัยผู้สูงอายุ

ปัญหาที่สุขภาพทั่วไปของผู้สูงอายุ
1. กระดูกหักง่าย เนื่องจากความเสื่อมของกระดูก กระดูกบางที่พบบ่อยคือ กระดูกสะโพก ต้นขา ข้อมือ และกระดูกสันหลัง
การแก้ไข โดยดื่มนม กินปลาเล็กปลาน้อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรดื่มสุราเพราะทำให้สูญเสียแคลเซียมในกระดูกมาก ทำให้กระดูกผุ เปราะ เสื่อมเร็ว

2. สายตาไม่ดี เกิดจากเลนส์ตาแข็งตัว ยืดหยุ่นไม่ดี การปรับภาพจะน้อยลง จึงเห็นภาพไม่ชัด
การแก้ไข โดยสวมแว่นที่เป็นเลนส์นูน     

3. หูตึง เกิดจากระบบประสาทเสื่อมถอย ประสาทการได้ยินของหูเสื่อม
การแก้ไข ควรพบแพทย์

4. ฟันไม่ดี ฟันลดลง ปากแห้ง การได้กลิ่นและรับรสเสีย ทำให้กินอาหารไม่ได้ กินช้าลง กินได้น้อย
การแก้ไข ควรปรึกษาทันตแพทย์ และต้องเลือกอาหารที่เคี้ยวง่าย

5. เป็นลมบ่อย เกิดจากการปรับตัวของความดันเลือดไม่ดีขณะเปลี่ยนท่าทาง ความดันเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว
การแก้ไข นอนหมอนสูงเล็กน้อย ค่อยๆ ลุก เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

6. เรอบ่อย จากท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เนื่อง จากการบีบตัวของหลอดอาหารลดลง น้ำย่อยออกน้อย เกิดลมในกระเพาะ

7. ท้องผูก เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อลำไส้ การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้กากอาหารเคลื่อนตัวมาสู่ลำไส้ส่วนล่างช้า
การแก้ไข รับประทานอาหารย่อยง่าย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

8. อาจเป็นเบาหวาน เพราะเนื้อเยื่อของร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ออกมาจากตับอ่อนได้เพียงพอ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง การแก้ไข ควบคุมอาหารหวานจัด

9. หูรูดเสื่อม ท่อปัสสาวะเสื่อมในผู้ชายจากต่อมลูกหมากโต ผู้หญิงจะมีมดลูกหย่อน ดึงกระเพาะปัสสาวะลงมา ทำให้ปัสสาวะบ่อย การแก้ไข กรณีเป็นมากอาจต้องพบแพทย์

10. หลงลืมบ่อย เนื่องจากเซลล์สมองเสื่อม เซลล์สมอง ลดลงมีการตายของเซลล์ และไม่เกิดใหม่
การแก้ไข ควรรวมกลุ่มวัยเดียวกันมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่แยกตัว ทำงานที่เป็นประโยชน์สังคม จะช่วยให้ความจำดีขึ้น

11. หัวใจและหลอดเลือด เกิดภาวะหลอดเลือดเสื่อม หลอดเลือดแข็งตัว โดยเฉพาะหลอดเลือดเล็กๆ ที่เลี้ยงไต สมอง หัวใจ หัวใจต้องทำงานหนักจึงเหนื่อยง่าย
การแก้ไข กินอาหารที่เหมาะสมให้ครบ 5 หมู่ ควรระวังอย่าให้อ้วนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารไขมันจากสัตว์และกะทิ อาหารรสหวานจัด ควรกินข้าวกล้อง ปลา จะย่อยง่าย ผัก ผลไม้ ถั่ว

12. ปัญหาอารมณ์ เกลียด เครียด กังวล โกรธ มีผลต่อร่างกาย ขณะมีอารมณ์ดังกล่าว ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนออกมาทำให้มีอาการใจสั่น น้ำตาลสูงขึ้น และทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารลำไส้
การแก้ไข ผู้ใกล้ชิด ลูกหลาน ควรให้ความรักความเข้าใจ เอาใจใส่ดูแลให้ความเคารพนับถือ จะช่วยให้ปัญหาทางอารมณ์ในผู้สูงอายุลดลง

การปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุ

1. ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และย่อยง่ายให้เพียงพอ ครบ 5 หมู่ ละเว้นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เที่ยวกลางคืน เป็นต้น ออกกำลังกายให้พอเหมาะ ไม่ให้เหนื่อยเกินไป ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง

2. ด้านจิตใจและสังคม รักษาจิตใจให้สบาย มีหลักยึดมั่นในศาสนา พบปะสังสรรค์กับผู้อื่นตามความเหมาะสม และทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเองและสังคมที่ไม่หนักเกินไป เช่น การไปฟังธรรม การเข้าสมาคมบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น 

มีความสุขในครอบครัว ความรักในผู้สูงอายุมิได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว แต่หมายถึงการมีคู่ไว้ช่วยคิด ปรึกษาหารือ ปรับทุกข์ ซึ่งกันและกัน แต่ในบางคู่อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ และถ้าอยู่ในขอบเขตเป็นที่ยอมรับของสังคมจะเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ชะลอความแก่ได้เหมือนกัน

(ที่มา: หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 114 พฤษภาคม 2553 โดย งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)

สุขภาพวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

ในการดูแลสุขภาพผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายของผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุให้ชัดเจนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เกณฑ์ในการพิจารณาคุณลักษณะผู้ใหญ่นั้นได้มีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาไว้ 3 ประการ (เธียรศรี วิวิธสิริ อ้างถึงในสุวัฒน์ วัฒนวงศ์ 2533 : 2) คือ

1. ลักษณะทางอายุ ในประเทศไทยนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ผู้มีอายุย่างเข้าปีที่ 15 (14 ปีบริบูรณ์) เข้าสู่ภาวะความเป็นผู้ใหญ่ โดยเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก ด.ช. เป็นนาย และด.ญ.เป็นนางสาว สำหรับหน่วยราชการอื่นๆ มีเกณฑ์เกี่ยวกับอายุต่างกันออกไป แล้วแต่ความเหมาะสมของกิจกรรมนั้นๆ เช่น การรับจ้างและใช้แรงงาน การจดทะเบียนเพื่อรับราชการทหาร การทำบัตรประจำตัวประชาชน อย่างไรก็ดี โดยกฎหมายนั้น บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์

2. ลักษณะทางอารมณ์ และสติปัญญา นักจิตวิทยาพัฒนาการพิจารณาความเป็นผู้ใหญ่ โดยคำนึงถึงวุฒิภาวะทางด้านจิตใจ ความพร้อมทางสติปัญญา และความรับผิดชอบในภาระกิจที่ต้องใช้ทั้งอารมณ์ และสมองควบคู่กัน ถ้าหากบุคคลใดมีความสามารถมากพอก็ยอมรับว่า เข้าสู่ภาวะความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

3. ลักษณะของบทบาทหน้าที่ทางสังคมและการประกอบอาชีพ นับว่าเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญมาก ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่จะต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่แน่นอน มั่นคง และสามารถทำหน้าที่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม โดยเริ่มจากการมีบทบาทในครอบครัว อาจจะเป็นพ่อแม่ทำหน้าที่พลเมืองดีในการเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาล ตลอดจนบทบาทอื่นๆ ในสังคม ตามความสามารถและความสนใจ ในการดูแลสุขภาพได้พิจารณาลักษณะความเป็นผู้ใหญ่โดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ นั่นคือ ผู้ที่มี อายุ 15 ปี จะถูกนับรวมเป็นผู้ใหญ่ด้วย ทั้งนี้เพราะผู้ที่อายุ 15 ปี เป็นผู้มีลักษณะทางร่างกายเจริญเต็มที่ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ทั่วไป

ต้องการการตรวจเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ทุกประการ อย่างไรก็ตามแม้ว่าร่างกายจะมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ แต่สภาพจิตใจและอารมณ์ยังไม่มีวุฒิภาวะพอ นักจิตวิทยาพัฒนาการจึงเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่าเป็นวัยรุ่นดังนั้นวัยรุ่นในความหมายของนักจิตวิทยาพัฒนาการจึงเป็นผู้ใหญ่ในแง่การดูแลสุขภาพ ส่วนผู้ใหญ่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เรียกว่า ผู้สูงอายุ สุขภาพวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จึงรวมถึงบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง และวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน เกือบตลอดชีวิต การที่พยาบาลจะดูแลสุขภาพในวัยเหล่านี้ได้ดีนั้นจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงในวัยต่างๆ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ปัญหาสุขภาพ และการดูแลสุขภาพในแต่ละวัยตามภาวะสุขภาพอันได้แก่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการดูแลสุขภาพในระยะเจ็บป่วย

พัฒนาการของวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ ผู้ที่จะเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ได้ผ่านพัฒนาการตามวัยมาแล้วหลายขั้นตอน วัยเหล่านี้ได้แก่ วัยทารก วัยเด็กตอนต้น หรือวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียน วัยเด็กตอนปลายหรือวัยเข้าโรงเรียน แต่ละวัยที่ผ่านมามีทั้งการพัฒนาทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคม เด็กที่ผ่านการพัฒนาตามวัยเหล่านี้ จะพัฒนาต่อไปเพื่อเข้าสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยสูงอายุ แต่ละวัยจะมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน ซึ่งแฮฟวิกเฮิร์ท (Havighurst อ้างถึงใน สุวัฒน์ วัฒนวงศ์2533 : 3) ได้แบ่งบุคคลที่อายุ 13 ปีขึ้นไป ออกเป็น 4 ช่วงวัย คือ

1. วัยรุ่น (adolescence) อายุ 13 ปี ถึง 18 ปี
2. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (early adulthood) อายุ 18 ปี ถึง 35 ปี
3. วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง (middle adulthood) อายุ 35 ปี ถึง 60 ปี
4. วัยสูงอายุ (later maturity) อายุ 60 ปีขึ้นไป

พัฒนาการของวัยรุ่น

วัยรุ่นหมายถึง ช่วงชีวิตที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เพื่อเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ คือชายเริ่มมีการผลิตน้ำอสุจิ และหญิงเริ่มมีประจำเดือน ไปจนกระทั่งร่างกายและจิตใจมีวุฒิภาวะ (maturity) พร้อมที่จะเข้าสู่ความรับผิดชอบในวัยผู้ใหญ่ และพอใจจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง ด้านสติปัญญา เจตคติ และความสนใจ (Lidg, 1976, quoted in Murry, and Zentner 1985 : 309) ซึ่งนักจิตวิทยาพัฒนาการถือว่าเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ การเปลี่ยนแปลงประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ทำให้ร่างกายของวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัยผู้ใหญ่ อวัยวะเพศเริ่มทำหน้าที่ได้ เพศหญิงมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างไปจากเดิมคือ มีตะโพกผายขึ้น มีขนบริเวณอวัยวะเพศ เต้านมมีการเจริญเติบโตขึ้นจนบางรายมีอาการเจ็บบริเวณเต้านม และเริ่มมีประจำเดือน ส่วนชายมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คือ เสียงจะห้าวขึ้น มีหนวด เครา มีขนบริเวณรักแร้และอวัยวะเพศ อวัยวะเพศเริ่มแข็งตัวได้ และอาจมีฝันเปียกขณะนอนหลับ

2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ จากอิทธิผลของฮอร์โมนเพศ และภาวะเครียดในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำให้วัยรุ่นมีลักษณะอารมณ์ที่อ่อนไหวง่ายอารมณ์บางครั้งรุนแรง เอาใจยาก และบางครั้งก็เก็บกด บางครั้งลักษณะฉุนเฉียวเอาแต่ใจตนเอง แต่บางครั้งมีความอ่อนหวานเอื้ออาทรต่อผู้อื่น พฤติกรรมต่างๆ จะแตกต่างไปจากวัยเด็กที่ชอบวิ่งเล่น กลับเป็นสุภาพเรียบร้อยและสงบเสงี่ยมมากขึ้นกว่าเดิม

3. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปจากวัยเด็ก คือ ในวัยเด็กนั้นสังคมมักจะแคบอยู่เฉพาะในครอบครัวซึ่งมีพ่อแม่ พี่น้อง แต่ในวัยรุ่นจะสนใจตัวเองมากขึ้น ต้องการเป็นอิสระไม่ชอบร่วมกิจกรรมกับครอบครัว ให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันมาก มักจะมีเพื่อนสนิทเป็นกลุ่มหลายๆ คน ในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นเพศเดียวกัน แต่มีแนวโน้มที่จะคบเพื่อนต่างเพศมากขึ้น จากการที่ชอบรวมกลุ่มระหว่างเพื่อนรุ่นเดียวกันนี้ ทำให้ถูกชักจูงให้ร่วมมือกันเพื่อปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้ง่าย จากลักษณะทางสังคมดังกล่าว จึงเหมาะที่จะส่งเสริมลักษณะนิสัยต่างๆ หรือสร้างเจตคติที่ถูกต้องเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต วัยรุ่นมีความต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจตนเอง ความต้องการทางจิตใจของวัยรุ่น ได้แก่ ต้องการอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ต้องการคำยกย่องและการยอมรับจากเพื่อน ต้องการมีประสบการณ์ใหม่ๆ ชอบลองสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ถูกห้ามปรามว่าอย่าทำ ทำให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตและปัญหาสังคมตามมาได้ง่าย ลักษณะอีกประการหนึ่งของวัยรุ่นซึ่งมีความสำคัญคือ การเลียนแบบ เนื่องจากเป็นช่วงของวัยที่มีการพัฒนาบุคลิกภาพ จึงมีการเลียนแบบบุคคลที่ตนชอบซึ่งแสดงถึงความพร้อมจะเข้าสู่ภาวะความเป็นผู้ใหญ่ (ศรีเรือน แก้วกังวาล 2521 : 99-162) วัยรุ่นจะแสวงหาแม่แบบ (model) ตามแนวทางที่ตนคิดว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ที่ถูกต้อง แต่การเลือกแม่แบบขึ้นอยู่กับอิทธิพลของกลุ่ม เพื่อนค่อนข้างมาก ผู้ปกครองจึงควรให้ความสนใจกับการเลือกแม่แบบของเด็กด้วย พัฒนาการของวัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรือวัยหนุ่มสาว หมายถึงบุคคลที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงของชีวิตที่ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมมีพัฒนาการที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ได้แก่ 1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย วัยผู้ใหญ่ตอนต้นนี้ร่างกายหยุดเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายจะช้ากว่าในวัยเด็ก ระบบต่างๆ ของร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ กล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่ร่างกายมีสมรรถภาพสูงสุด ผิวหนังเรียบเต่งตึง สิวจะปรากฎน้อยลง กล้ามเนื้อมีการตึงตัว และมีความแข็งแรง กระดูกจะมีความแข็งแรงที่สุดเมื่ออายุ 30 ปี

จึงเป็นช่วงอายุที่นักกีฬาประสบความสำเร็จสูง และจะยังคงความแข็งแรงไว้จนกระทั่งอายุ 39 ปี และเมื่ออายุ 40 ปี ก็ยังคงมีความแข็งแรงอยู่ ถ้ามีการออกกำลังกายสมํ่าเสมอและได้อาหารที่พอควร การแบ่งตัวของเซลล์และการซ่อมแซมเนื้อเยื่อยังไม่เสียไป (Freibeig quoted in Murray and Zentner 1985 : 39)

ระบบทางเดินอาหารทำงานอย่างสมํ่าเสมอ ฟันมีการเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 20 ปี โดยมีฟันกราม 4 ซี่สุดท้ายงอก ค่าผลตรวจทางชีวเคมี เช่น น้ำตาลในเลือด ความเป็นกรดด่าง ให้ผลปกติเท่ากับวัยผู้ใหญ่ ประสาทรับความรู้สึก ได้แก่การเห็น การได้ยินทำงานมีประสิทธิภาพสูง สุดเช่นกัน แต่บางคนอาจสวมแว่นตา ใส่เลนส์สัมผัส หรือเครื่องช่วยฟัง

ระบบหายใจและการบีบตัวของหัวใจจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น ขึ้นอยู่กับการออกกำสังกายนิสัยการกินโดยทั่วไปการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจจะลดลงหลังอายุ 30 ปีหลอดเลือดแดงจะมีความยืดหยุ่นน้อยลง บางรายอาจมีหลอดเลือดขอดหรือเป็นโรคริดสีดวงทวาร ความจุอากาศหายใจ (breathing capacity) จะค่อยๆ ลดลงในช่วงอายุ 20-40 ปี แต่สามารถทำให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ โดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ทำให้การทำงานทั้งหมดของร่างกายเสื่อมลงไป ความสมบูรณ์ของอวัยวะเพศ ยังคงมีความคงที่ โดยจะมีประจำเดือนสมํ่าเสมอและพร้อมที่จะมีบุตรได้โดยไม่มีอันตรายมาก เท่าในวัยรุ่น

2. พัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ ของผู้ใหญ่วัยนี้เป็นระยะของการทดลอง เพื่อหาแนวทางชีวิตที่ตนต้องการและพอใจสืบต่อเนื่องมาจากวัยรุ่น เช่น อาชีพ เพื่อน คู่ครอง (ศรีเรือน แก้วกังวาล 2521 : 116-117) ในด้านอารมณ์นั้นสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีความมั่นคงทางจิตใจมากกว่าวัยรุ่น มีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ยึดเกาะติดใครอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปัญหาและทนต่อความผิดหวังได้ มีการคำนึงถึงความต้องการของผู้อื่น

3. พัฒนาการทางด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเกิดจากแรงผลักดันทางสังคมและวัฒนธรรม วัยผู้ใหญ่ตอนต้นถูกสังคมคาดหวังว่าจะต้องมีบทบาทของความรับผิดชอบในการทำงานประกอบอาชีพ และพัฒนาความสนใจ เจตคติ และค่านิยมต่างๆ เพื่อปรับตัวต่อบทบาทใหม่ได้ การเป็นสามี ภรรยา เป็นพ่อ แม่ เป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องหรือ หัวหน้างาน ซึ่งผู้ใหญ่ตอนต้นต้องสามารถปรับตัวให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขจึงสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ มีความเต็มใจในการเสียสละ และกล้าหาญพอที่จะช่วยรับผิดชอบต่อส่วนรวม สามารถทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าตนได้ ความสำเร็จทางสังคมเหล่านี้จะช่วยให้วัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีความมั่นคงทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น เมื่อสิ้น สุดวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่ทุกคนควรจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พัฒนาการของวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง

วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง หมายถึง ผู้ที่อายุระหว่าง 35-60 ปี ผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน เป็นช่วงของชีวิตที่ผ่านความเป็นผู้ใหญ่มานานพอสมควร ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ซึ่งมีผลกระทบต่อลักษณะอารมณ์

ในระยะนี้บุคคลจะเริ่มประเมินผลการดำเนินชีวิตในช่วงที่ผ่านมาในด้านต่างๆ จึงเรียกระยะนี้ว่าระยะทดสอบพัฒนาการของวัยผู้ใหญ่ตอนกลางได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จะมีมากจนทำให้รู้สึกตกใจ และเป็นกังวลเนื่องจากมองเห็นเงาตัวเองในกระจกที่มีรอยตีนกาขึ้นที่หางตา ผมเป็นสีเทาและบาง มีลักษณะแตกหักและหยาบ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ ความคล่องแคล่วว่องไวทางกายและความฉับไวของสมองซึ่งเริ่มจะคิดช้าลง ความจำเสื่อมลง โดยเฉพาะความจำในเหตุการณ์ปัจจุบัน ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีความสามารถในการจำต่ำกว่าผู้มีอายุน้อย (นงลักษณ์ ชื่นจิตร์ 2527 : บทคัดย่อ) มีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นคือ สายตาจะยาวขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นของแก้วตาน้อยลง และพลังในการเพ่ง ลดลง การได้ยินก็ค่อยๆ เสียไป โดยเฉพาะเสียงที่มีความถี่สูง ปฏิกริยาการตอบสนองจะช้าลง หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นได้น้อยลง โดยเฉพาะหลอดเลือดโคโรนารี่ เป็นเหตุให้วัยกลางคนเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน จะขาดเอสโตรเจนซึ่งเป็นเสมือนตัวป้องกันระดับโคเลสเตอโรลในเลือดไม่ให้สูง นอกจากนี้เลือดที่บีบออกจากหัวใจลดน้อยลง และอัตราการกรองของไตก็น้อยลงด้วย ร่างกายมีการเผาผลาญลดลง วัยนี้จึงมักจะอ้วนกว่าวัยหนุ่มสาว มีการหลุดของแคลเซียม ออกจากกระดูกทำให้กระดูกบางลงและค่อยๆ เกิดกระดูกพรุนขึ้น จากการที่กระดูกพรุนทำให้หมอนรองกระดูกค่อยๆ ยุบตัวลง มักจะเกิดที่กระดูกคอและช่องอกส่วนบน ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายเตี้ยลงกว่าเดิม และหลังค่อม หญิงที่มีอายุ 55 ปี จะเสี่ยงต่อกระดูกหักมากกว่าชายที่อายุเท่ากัน 10 เท่า กระดูกที่เสี่ยงต่อการหักมากที่สุดคือกระดูกแขน กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง ฟันมักจะผุ แต่บางรายฟันโยกและหลุดโดยไม่ผุ

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนจะทำให้หญิงหมดประจำเดือน โดยเริ่มจากมีเลือดออกในแต่ละรอบเดือนค่อยๆ น้อยลง และสภาพของต่อมซึ่งผลิตฮอร์โมนเพศค่อยๆ ฝ่อลงหญิงอาจมีอาการของการหมดประจำเดือน เช่นอาการร้อนวูบวาบ บริเวณใบหน้ามีเหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ใจสั่น หงุดหงิด อาการเหล่านี้เกิดจากการเสียความสมดุลของฮอร์โมน กล่าวคือ ต่อมพิตูอิตารี่ (pituitary gland) ยังคงผลิตฮอร์โมน เอฟ เอส เอช (F S H) และ แอล เอช (LH) แต่รังไข่ไม่สามารถตอบสนองได้ จึงไม่มีผลย้อนกลับไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนของต่อมพิตูอิตารี่ ต่อมนี้จึงหลั่งฮอร์โมนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการดังกล่าว เมื่อรังไข่ผลิตฮอร์โมนน้อยลง แต่ต่อมหมวกไตยังคงผลิตฮอร์โมนบางอย่างอยู่ จึงทำให้หญิงวัยกลางคนมีลักษณะความเป็นเพศหญิงต่อไปได้ ในเพศชายการเปลี่ยนแปลงมองไม่เห็นชัดเจน ความสามารถในการสืบพันธุ์ยังมีอยู่ การหลั่งฮอร์โมนเพศจะน้อยลง ลูกอัณฑะจะนุ่มและขนาดเล็กลง การสร้างอสุจิน้อยลง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยลง ชายอาจต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำให้อวัยวะ เพศแข็งตัว และอาจรู้สึกว่าน้ำอสุจิไหลพุ่งน้อยลง

พบว่าระดับเทสโทสเตอโรนจะลดลงในคนที่มีความวิตกกังวลสูง ความยอมรับนับถือตนเองตํ่า หรือมีอาการซึมเศร้า ประมาณร้อยละ 20 อาจมีต่อมลูกหมากโต มักเริ่มในวัยกลางคนและค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ที่บริเวณรอบท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด และปัสสาวะคั่ง การที่ฮอร์โมนเพศเปลี่ยนไป ทำให้อย่างอื่นเปลี่ยนแปลงตามมา ได้แก่ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และเยื่อบุจะแห้งเหี่ยวลง ผิวหนังจะเหี่ยวย่น กล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงเยื่อบุอุ้งเชิงกรานหย่อนตัว เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ หูรูด และเนื้อเยื่อรอบท่อปัสสาวะและส่วนที่พยุงอวัยวะเหล่านี้สูญเสียการตึงตัว มีผลให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะราดเวลาไอและจาม โดยเฉพาะในเพศหญิง ทำให้มดลูก รังไข่ อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและเต้านมเริ่มฝ่อ เหี่ยว เยื่อบุช่องคลอดมีความยืดหยุ่นน้อยลง และมีเมือกหล่อลื่นช่องคลอดน้อยลงระหว่างร่วมเพศ เซล บริเวณช่องคลอดมีจำนวนน้อยลง มีลักษณะบางและอักเสบ และขับกรดน้อยลง

2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ ในหญิงวัยกลางคน มีการเปลี่ยนแปลงทาด้านร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อจิตใจของหญิงวัยกลางคนมาก ที่เรียกว่า ช่วงวิกฤต คือถ้าปรับตัวไดัดีชีวิตก็จะมีความสุข ถ้าปรับตัวไม่ได้จะกระทบกระเทือนต่อลักษณะอารมณ์ และจิตใจจนอาจทำให้กระทบกระเทือนถึงหน้าที่การงานด้วย การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจมากเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมีความหมายต่อบุคคลนั้นเพียงใด อาการอาจจะน้อยมากจนไม่อาจสังเกตเห็น บุคลิกภาพและเจตคติต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นมีความสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาการรุนแรงปรากฏได้ร้อยละ 10 ของหญิงกลางคน หญิงที่ยอมรับนับถือตนเองตํ่า และมีความพึงพอใจในตนเองต่ำมักจะปรับตัวต่อวัยหมดประจำเดือนได้ยากกว่า วัยนี้จึงจำเป็นต้องประเมินแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self concept) ใหม่ แล้วปรับปรุงสภาวะการเปลี่ยนแปลงตามวัย ถ้าไม่ ปรับปรุงชีวิตสมรสอาจต้องสิ้นสุดลง หลังจากที่อยู่ด้วยกันมานาน

3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในผู้ใหญ่วัยกลางคนเกิดขึ้นมากพอๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย วัยนี้มักจะมีฐานะทางสังคมค่อนข้างดี เนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น มีเวลาให้กับสังคมมากขึ้น เพราะภาระกิจในครอบครัวลดลง ลูกบางคนอาจแต่งงานและแยกครอบครัวไป ผู้ใหญ่วัยกลางคนบางคน อาจเปลี่ยนบทบาทเป็น ปู ย่า หรือ ตา ยาย บทบาทในการอบรมเลี้ยงดูบุตรมีน้อยลง สังคมภายในบ้านมักจะเปลี่ยนแปลงด้วยเนื่องจากลูกโต เสียงทะเลาะกันระหว่างลูกๆ หมดไปกลายเป็นความเงียบเข้ามาแทนที่ บทบาทของสามีภรรยาอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข บทบาททางสังคมอีกประการหนึ่งที่ผู้ซึ่งอยู่ในวัยกลางคนอาจต้องปฏิบัติคือ การเลี้ยงดูพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัยสูงอายุ เนื่องจากวัยกลางคนเป็นวัยที่อยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ หลายอย่าง รวมถึงท่ามกลางรุ่นคือ รุ่นก่อนและรุ่นหลัง

แม้ภาระรับผิดชอบเลี้ยงลูกน้อยลงแต่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และอาจมี น้า อา หรือ ป้าด้วย เนื่องจากวัยกลางคนมักมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงเป็นที่พึ่งพาของพ่อแม่และญาติ และถ้าทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์อาจทำให้เกิดความ วิตกกังวล ส่วนใหญ่ถ้าพ่อแม่มีลูกหลายๆ คน ผู้ที่มักจะรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่คือ ลูกที่ยังเป็นโสด เพราะพี่ๆ น้องๆ คนอื่นๆ เข้าใจว่ามีภาระรับผิดชอบอย่างอื่นน้อยกว่าคนอื่นๆ พัฒนาการของวัยสูงอายุ

ผู้สูงอายุคือบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (บรรลุ ศิริพานิช 2533 : 432) ซึ่งบางคนอาจจะดูยังไม่แก่ และยังสามารถปฏิบัติงานต่างๆ ได้ดีเช่นเดียวกับวัยกลางคน บางคนคงความเป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงอยู่ได้จนกระทั่งอายุ 75 หรือ 80 ปี หลังจากนั้นความสามารถในการช่วยเหลือตนเองจะค่อยๆ ลดลง จึงมีผู้นิยมแบ่งวัยสูงอายุออกเป็น 2 ช่วงวัย คือ

1. วัยสูงอายุระยะแรก (young old) คือผู้ที่มีอายุ 60-75 ปี (หรือ 80 ปี) เป็นผู้สูงอายุที่มีความแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมในกิจการต่างๆ ได้

2. วัยสูงอายุระยะหลัง (old old) คือผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากจนขาดความคล่องแคล่วว่องไวในการเดิน ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองเกี่ยวกับชีวิตประจำวันลดลง ต้องมีคนคอยดูแลช่วยเหลือ ผู้ที่มีโอกาสก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีชัยชนะในการประคับประคองสุขภาพของตนเองเข้าสู่เส้นชัย โดยสามารถฟันฝ่าอุปสรรคแห่งการเปลี่ยนแปลงในวัยผู้ใหญ่ตอนด้น และผู้ใหญ่ตอนกลางมาได้ และการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันไป กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวมีดังต่อ ไปนี้คือ

1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

1.1 ระบบห่อหุ้มร่างกาย ระบบห่อหุ้มร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ ผิวหนัง ต่อมเหงื่อ ผม และเล็บ ซึ่งนอกจากเกิดจากความชราแล้วการเปลี่ยนแปลงยังได้รับอิทธิพลจากกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม อาหารและสุขภาพทั่วๆ ไปมาก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมี ดังต่อไปนี้ คือ

1.1.1 ผิวหนัง ลักษณะผิวหนังของผู้สูงอายุ แตกต่างกันไปตามตำแหน่งของร่างกาย เช่น บริเวณหน้า จะมีรอยตีนกาบริเวณหางตา บริเวณคอมีรอยย่นมาก เพราะมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย ผิวหนังมักซีดไม่มีนํ้ามีนวลเหมือนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากหลอดเลือดฝอยบริเวณหน้าลดลง ใบหน้าของบางคนมีตุ่มนูนแข็งคล้ายหูด (seborhea Keratosis) เกิดจากไขมันที่ร่างกายขับออกมาถูกอุดตัน บางคนหน้าเป็นฝ้ามากขึ้น บริเวณแขนขา หลังมือ มีไขมันใต้ผิวหนังน้อยเช่นเดียวกันทำให้มองเห็นเป็นรอยย่นชัดเจน ผิวหนังมักบางมองเห็นหลอดเลือดใต้ผิวหนังได้ชัด และบางแห่งอาจมีพรายนํ้า (Senile purpura) เพราะหลอดเลือดฝอยเปราะแตกง่าย ผิวหนังมักแห้งและลอกทำให้มีอาการคัน เนื่องจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังขับไขมันได้น้อยลง บางแห่งมีจุด เหมือนขี้แมลงวัน (Senile lantigo) มากขึ้น บางแห่งมีรอยด่างและสีไม่สม่ำเสมอ เรียกว่า ตกกระ (actinic keratosis) ส่วนบริเวณลำตัว โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องและตะโพกจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ทำให้มีลักษณะพุงพลุ้ย ผิวหนังตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายเหล่านี้ เมื่อเป็นแผลแล้วจะหายช้ามากเพราะเซลล์แบ่งตัวได้ช้าลง หลอดเลือดเปราะและแข็งมากขึ้น ทำให้การงอกใหม่ของหลอดเลือดฝอยลดลงและมักเป็นแผลกดทับได้ง่ายเพราะประสาทสัมผัสไม่ดี

1.1.2 ต่อมเหงื่อขับเหงื่อได้น้อยลง ขนาดของต่อมเหงื่อเล็กลงและจำนวนเหลือน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว จึงระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ไม่ดี ทำให้ผู้สูงอายุร้อนมาก เมื่ออากาศร้อนจนอาจเป็นลมจากความร้อนได้ง่าย

สาเหตุของการระบายความร้อนไม่ดีมีส่วนหนึ่งเกิดจากประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่ดี ทำให้การขยายของหลอดเลือดฝอยและการขับเหงื่อของต่อมเหงื่อเป็นไปค่อนข้างช้า (Collins and Exton-Smith, 1983 : 31 quoted in Holm -Pederson, and Loe 1986 : 49)

นอกจากจะรู้สึกร้อนมากเมื่ออากาศร้อนแล้วเมื่ออากาศหนาวผู้สูงอายุจะรู้สึกหนาวมากด้วย และทนต่อความหนาวเย็นไม่ค่อยได้ เนื่องจากไขมันใต้ผิวหนังบริเวณแขนขาลดลง ร่างกายเก็บความร้อนได้ไม่ดีพอ จากความรู้สึกร้อนมากเมื่ออากาศร้อนและหนาวมากเมื่ออากาศหนาว ทำให้ผู้สูงอายุปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศค่อนข้างลำบาก และการจัดสิ่งแวดล้อมให้พอดีกับความต้องการของผู้สูงอายุก็ทำได้ยาก จนทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นคนจู้จี้ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว อาจสร้างความรำคาญแก่ญาติที่ดูแลได้ เป็นสภาวะวิกฤตที่ต้องการความเข้าใจจากญาติด้วย

1.1.3 ผมเปลี่ยนเป็นสีขาวแห้ง และร่วงง่าย เนื่องจากเนื้อเยื่อผิวหนังศีรษะ เหี่ยวย่นการไหลเวียนของโลหิตลดลง และเส้นผมได้รับอาหารไม่เพียงพอ เล็บจะยาวช้ากว่าปกติ มีลักษณะแข็งและเปราะหักง่าย

1.2 ระบบไหลเวียน การเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนมีผลทำให้ระบบอื่นๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนและอาหารลดลง อันเป็นต้นเหตุของการเสื่อมของอวัยวะอื่นๆ ตามมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่

1.2.1 หัวใจของผู้สูงอายุมักมีรูปร่างและขนาดไม่เปลี่ยนแปลงนอกจากบางราย ที่มีขนาดเล็กลง ภายในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมีสารไขมันเรืองแสงซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ และกำลังถูกกำจัดให้สลายจึงมักอยู่ใกล้กับ ไลโซโซม (lysosome) สารนี้ถือเป็นสารสีแห่งความชรา (aging pigment) เรียกว่า ไลโปฟุสซิน (lypofuscin) เยื่อบุหัวใจหนาขึ้น ผนังห้องหัวใจล่าง (Ven­tricle) หนาขึ้น และมีไขมันแทรกซึมอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจมักหนาและแข็งเป็นผลจากการมีพังพืด (fibrosis) เกิดขึ้น ทำให้การนำกระแสประสาทไม่ดี การทำงานของหัวใจลดลง อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ (Maximum Heart Rate) จะตํ่ากว่าวัยหนุ่มสาว ความจริงอัตราเต้นสูงสุดจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น เช่น อายุ 17-18 ปี อัตราเต้นสูงสุดของหัวใจ เมื่อออกกำลังเต็มที่อาจสูงถึง 200-210 ครั้งต่อนาที ซึ่งหัวใจของผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้ ปริมาณเลือดสูงสุดที่ถูกบีบออกจากหัวใจ (Maximun Stroke Volume) ลดลง ทำให้จำนวนเลือดที่ออกจากหัวใจใน 1 นาที (Cardiac Output) ลดลงถึง 40% ระหว่างอายุ 25 ปี และอายุ 65 ปี การตอบสนองของหัวใจต่อภาวะเครียดทำได้ช้า จะเห็นได้จากชีพจรไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเมื่อไข้สูงหรือตกใจและเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วกว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลานาน (Eliopoulos, 1987 :53-55)

1.2.2 หลอดเลือดจะเสียความยืดหยุ่นทำให้มองเห็นหลอดเลือดได้ชัดเจนตรงบริเวณศีรษะ คอ แขน ขา การที่ผนังหลอดเลือดแข็งและเสียความยืดหยุ่นนี้ทำให้หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นทำให้ค่าความดันเลือดสูงขึ้นทั้งความดันซีสโตลิก และความดันไดแอสโตลิก ซึ่งอาจสูงถึง 170/95 ม.ม.ปรอท ผู้ที่อายุเกิน 80 ปีอาจมีค่าความดันเลือดสูงถึง 195/105 ม.ม.ปรอท โดยไม่จำเป็นต้องรักษา

จากการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนดังกล่าวแล้ว ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลัง บางรายอาจมีอาการหน้ามืดเป็นลม เพราะการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจไม่ดีและการทำงานชดเชยเมื่อเกิดภาวะเครียดไม่ดีพอ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถปฏิบัติงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม เกิดความกลัววิตกกังวล ถ้าไม่สามารถปรับตัวยอมรับสภาพ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้

1.3 ระบบหายใจ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงเช่นเดียวกับระบบไหลเวียน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคือ

1.3.1 อวัยวะช่วยหายใจ ทรวงอกมีรูปร่างคล้ายถังเบียร์ คือ มีความหนาจากหน้าไปหลังเพิ่มขึ้น กระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังมีการเคลื่อนไหวขณะหายใจเข้าหายใจออกลดลง เนื่องจากกล้ามเนื้อช่วยในการหายใจอ่อนแอลง การหายใจส่วนใหญ่ต้องใช้กระบังลมช่วย กล่องเสียงเสื่อมทำให้เสียงเปลี่ยนเป็นห้าว แหบ และแห้ง

1.3.2 ปอด มีแนวโน้มที่จะมีขนาดโตขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นของเนื้อปอดไม่ดีเยื่อหุ้มปอดแห้งทึบ และมีการคั่งของนํ้าในช่องเยื่อหุ้มปอดได้ง่าย ขนกวัด (Cilia) มีการโบกพัดน้อยครั้งลง (ปกติ 10-11 ครั้งต่อวินาที) ทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ท่อ หลอดลมแยก (Broncheal Ducts) และท่อถุงลม (alveolar ducts) ขนาดโตขึ้น ถุงลม (alveoli) มีจำนวนน้อยลงแต่ขนาดโตขึ้น ในคนอายุ70 ปี อาจมีถุงลมเสื่อมลงไปถึง 30% เมื่อเทียบกับคนอายุ 40 ปี จากการที่มีถุงลมลดลง ทำให้ค่าแรงดันออกซิเจนในหลอดเลือดแดง (P 02) ในผู้สูงอายุ ตํ่ากว่าวัยหนุ่มสาว คือเหลือเพียง 75 ม.ม.ปรอท ค่าของอากาศค้างในปอด (residual capacity) เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ในคนอายุ 90 ปี และค่าความจุชีพของปอด (vital capacity) ลดลง ทำให้ปริมาณอากาศ หายใจเข้า หายใจออก (tidal Volume) ลดลง (Eliopoulos, 1987 : 55) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางปอดได้ง่าย เช่น หลังผ่าตัดหรือเมื่อร่างกายมีความต้านทานลดลงจากเหตุใดก็ตาม ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้ง่าย

1.4 ระบบกล้ามเนื้อ จากการศึกษาพบว่าปริมาณกล้ามเนื้อ (lean body mass) ลด ลงจาก 59 ก.ก. เมื่ออายุ 25 ปี เหลือเพียง 47 ก.ก. เมื่ออายุ 65-70 ปี ขณะเดียวกันไขมันจะเพิ่มจาก 14 ก.ก. เมื่ออายุ 25 ปี เป็น 26 ก.ก. เมื่ออายุ 70 ปี (ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ และอุรุวรรณ วลัยพัชรา 2533:14) ตัวเลขนี้อาจแตกต่างกันบ้างในการศึกษาแต่ละครั้งแต่ได้ข้อสรุปที่เหมือนกัน คือ ปริมาณกล้ามเนื้อลดลงและปริมาณไขมันเพิ่มขึ้น การเพิ่มของไขมันเกิดจากร่างกายดึงไปใช้น้อยลง ทำให้มองเห็นผู้สูงอายุมีลักษณะกล้ามเนื้อหย่อนยาน ซึ่งเห็นชัดเจนตรงบริเวณแขน และมีลักษณะลงพุง กล้ามเนื้อมีเส้นใยเล็กลง ภายในเซลล์กล้ามเนื้อมีการสะสมของไกลโคเจน (Glycogen) และเกลือแร่ที่จำเป็นในการทำงานของกล้ามเนื้อน้อยลง ได้แก่ โปตัสเซี่ยม และ ทำให้ความตึงตัว (tonus) ของกล้ามเนื้อลดลงและพลังก็อ่อนลง รู้สึกเหมือนไม่ค่อยมีกำลังและยกของหนักไม่ไหว การสังเคราะห์โปรตีนของเซลล์กล้ามเนื้อลดลง และหลอดเลือดฝอยภายในกล้ามเนื้อลดลง การทำงานประสานกันระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อเสื่อมลง การตอบสนองของกล้ามเนื้อช้ากว่าเดิม ความเร็วในการหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้ผู้สูงอายุขาดความคล่องแคล่วว่องไวในการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุมักเดินก้าวสั้นๆ ท่าทางเดินไม่ค่อยมั่นคง มีไหล่ห่อเนื่องจากกล้ามเนื้อต้นแขน (deltoid) เล็กลง และปมกระดูกอะโครเมียน (acromion process) เสื่อมลง

1.5 ระบบกระดูก กระดูกจะบางลงเพราะมีการเกาะของ แคลเซี่ยมลดลง เนื่องจากการใช้แรงงานในชีวิตประจำวันลดลง กระดูกจึงรับแรงที่มากระทำน้อยตามไปด้วย ซึ่งแรงที่มากระทำต่อกระดูกนี้จะสามารถกระตุ้นการสร้างกระดูกให้หนาขึ้นได้ สาเหตุอีกประการหนึ่งเกิดจากการขาดโปรตีนและเกลือแร่ ได้แก่ แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส และวิตามิน หรือขาดฮอร์โมนเอสโตเจนซึ่งช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยมและมีการจับของแคลเซี่ยมในเนื้อกระดูก จึงมักพบภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ในเพศหญิงหลังหมดประจำเดือนมากกว่าผู้สูงอายุชาย การเกิดกระดูกพรุน ทำให้ผู้สูงอายุมีกระดูกเปราะและหักง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการปวดร้าว โดยเฉพาะจะปวดหลังบางรายอาจมีหลังโกง (Kyphosis) เนื่องจากกระดูกสันหลังมีการหักร่วมกับการยุบตัวของหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกที่หักมีลักษณะเป็นลิ่ม ซึ่งการหักนี้อาจเกิดขึ้นโดยที่ผู้สูงอายุไม่ทราบสาเหตุก็ได้ ผู้สูงอายุจะมีความสูงลดลง กระดูกขากรรไกรล่างจะเล็กลง ประมาณครึ่งหนึ่งของวัยหนุ่มสาว ถ้าฟันหักหมดจะทำให้คางยื่นและรูปหน้าสั้นกว่าวัยหนุ่มสาว ข้อกระดูกต่างๆ ก็เสื่อมลงเช่นกัน เยื่อหุ้มข้อ เยื่อหุ้มกระดูกจะเสื่อมสภาพไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการใช้งานจะยิ่งเสื่อมมาก ข้อใดที่ยังใช้งานจะเสื่อมน้อยกว่า ตามปกติกระดูกผิวข้อจะไม่มีเลือดหรือเส้นประสาทมาเลี้ยง การสึกกร่อนระยะแรกจึงยังไม่มีอาการปวด ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้นกระดูกอ่อนผิวข้อจะบางลง จนถึงเนื้อกระดูกที่รองรับอยู่ทำให้รู้สึกปวดและไม่สามารถรับนํ้าหนักได้เหมือนปกติ

กระดูกอ่อนมีการเสื่อมสลายจากการใช้งานมานานและเกิดพังผืด เยื่อหุ้มกระลูกก็มีพังผืดเกิดขึ้นเช่นกัน นํ้าเลี้ยงข้อมีลักษณะข้นกว่าวัยหนุ่มสาว การเกิดพังผืดที่ข้อร่วมกับน้ำเลี้ยงข้อข้นขึ้นทำให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก การมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทำให้ผู้สูงอายุต้องจำกัดกิจกรรมลง ไม่กล้าไปไหนคนเดียว หรือรู้สึกลำบากใจถ้าต้องอยู่ในภาวะเร่งรีบ

การเดินทางออกจากบ้านอาจจะน้อยครั้งลงเพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น และถ้าการอยู่กับบ้าน เป็นการจำกัดให้ผู้สูงอายุใช้แรงงานในชีวิตประจำวันน้อยลงแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกและข้อมากขึ้น

1.6 ระบบประสาท การเปลี่ยนแปลงของสมองมักจะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่เฉพาะเจาะจง จะพบว่าสมองของผู้สูงอายุมีขนาดเล็กลง เซลล์ประสาทลดลงจากวัยหนุ่มสาว ประมาณ 6.7% ทำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 85 ปี มีน้ำหนักของสมองเพียง 1150 กรัม ในขณะที่คนหนุ่มสาวอายุ 25 ปี มีนํ้าหนักสมอง 1400 กรัม (บุญสม มาติน 2533:73) ภายในเซลล์ประสาทมีการสะสมของสารไขมันเรืองแสงคือ ไลโปฟุสซิน เช่นเดียวกับเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผู้สูงอายุบางรายมีอาการสั่นของมือและศีรษะ (Senile Tremor) เชื่อว่าเกิดจากสารสื่อ (Neurotransmitter) เช่น โดปามีน (Dopamine) สูญเสียการควบคุมการทำงานประสานกันของสมอง การนำกระแสประสาท จะช้าลงเนื่องจากมีการทำลายของปลอกประสาท พบว่าปลอกประสาทบางส่วนหายไปเป็นช่วงๆ

บางส่วนมีการงอกใหม่ซึ่งอาจเหลือร่องรอยไว้ทำให้ขัดขวางการนำกระแสประสาท ซึ่งมีผลให้การนำกระแสประสาทรับความรู้สึกเข้าสู่สมองช้าลง ผู้สูงอายุ จึงตอบสนองต่อการกระตุ้น และปฏิกิริยาสะท้อนกลับช้าลงกว่าเดิม (Eliopoulos 1987:60-62) ซึ่งพบว่าการนำการรับรู้ในระบบประสาทลดลง 15% เส้นประสาทที่มาสั่งงานของกล้ามเนื้อก็เสื่อมลงเช่นกัน ผู้สูงอายุจึงมักทำอะไรได้ช้ากว่าปกติ ความแม่นยำจะเสียไปมาก เนื่องจากการทำงานของสมองและอวัยวะต่างๆ ไม่ประสานกันเท่าที่ควร ร่วมกับความอ่อนแอของกล้ามเนื้อ และการเสื่อมของกระดูกและข้อทำให้ผู้สูงอายุประสบกับอุบัติเหตุจากการหกล้มได้ง่าย

ลักษณะการนอนหลับในผู้สูงอายุก็เปลี่ยนแปลงไป คือ หลับ-ตื่น คืนละหลายๆ ครั้ง คุณภาพของการนอนก็จะลดลงคือหลับยาก และหลับไม่ค่อยสนิทมักตื่นนอนกลางดึก จากการศึกษาพบว่าการนอนหลับในระยะที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเชื่อว่าเป็นระยะที่จำเป็นสำหรับการฟื้นคืน สภาพเดิมของร่างกายลดลง 50% (Colling, 1983:36-44) ระบบประสาทอัตโนมัติ ก็ทำงานเสื่อมลงเช่นกัน มีการตอบสนองช้า มีผลทำให้ผู้สูงอายุหน้ามืดเป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่าได้ง่าย เช่นจากท่านอน เป็นท่านั่ง หรือจากท่านั่งเป็นท่ายืน เพราะการตอบสนองของหลอดเลือดเมื่อแรงดันเปลี่ยน (baroreflex sensitivity) เป็นไปค่อน ข้างช้าจนทำให้ความดันโลหิตลดลงมากเมื่อเปลี่ยนท่าและเมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น หัวใจก็ตอบสนองโดยการบีบตัวให้แรงและเร็วขึ้นได้ช้า จนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนได้ในบางครั้ง หรือเมื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวเร็วแล้ว กว่าจะสั่งงานให้หัวใจบีบตัวช้าลงก็ต้องใช้เวลานานจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ (Gribbin and others 1971: 424-431 quoted in Holm-Pedersen, and Loe 1986 : 40)

1.7 ระบบประสาทสัมผัสพิเศษ (Special Senses) ระบบประสาทสัมผัสพิเศษ ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ซึ่งเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุก็จะมีการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือ

1.7.1 ตา การเสื่อมของตาทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาความปลอดภัยในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและความสุขสบายอื่นๆ อย่างมาก การเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่หนังตาบน ซึ่งปกติจะบางไม่มีไขมันใต้ผิวหนัง เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกิดหนังตาหย่อนได้ง่าย หนังตาล่างจะบวม (Senile elastosis หรือ Puffy lids)

เนื่องจากไขมันที่อยู่ใต้ลูกตายื่นออกมาเพราะผนังกั้นไม่แข็งแรง ดวงตาผู้สูงอายุไม่มีประกายสดใสเพราะนํ้าหล่อเลี้ยงตาน้อยลงเนื่องจากเซลล์กลอบเล็ท (globlet Cell) ทำงานน้อยลง ถ้าอยู่ในที่อากาศแห้งจะรู้สึกเคืองตา บริเวณกระจกตามีวงขาวเกิดขึ้นอาจเกิดเพียง 1/4-1/2 หรือรองวงกลมถัดจากขอบนอกของตาดำ เรียกว่าอาร์คัสสซีไนลิส (Arcus senilis) กล้ามเนื้อม่านตา (iris) หย่อนทำให้รูม่านตาเล็กกว่าวัยหนุ่มสาว เรียกว่า ซีไนล์ไมโอซีส (Senile miosis) และรูม่านตาหดและขยายช้า จึงทำให้ผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนการมองวัตถุซึ่งอยู่ในที่มืดแล้วมองในที่สว่างหรือมองในที่สว่างแล้วกลับไปมองที่มืด เช่นการเปิดปิดไฟบ่อยๆ

ทำให้ไม่สามารถปรับสายตาให้มองเห็นชัดได้ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ผู้สูงอายุมักสายตายาว ในเพศหญิงเริ่มมีสายตายาวเมื่ออายุ 38 ปี เพศชายเริ่มสายตายาวเมื่ออายุ 40 ปี การปรับสายตาจากมองใกล้เป็นมองไกล หรือมองไกลแล้วมองใกล้ได้ไม่ดี เมื่อมองวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วๆ จะรู้สึกเวียนศีรษะเพราะการทรงตัวในผู้สูงอายุนั้น ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการมองเห็น เลนซ์ตามักขุ่นทำให้ทึบแสงมากขึ้น และมีสีเหลืองเพิ่มขึ้น

เมื่อแสงผ่านเลนซ์ตาลักษณะนี้จะถูกกรองเก็บแสงสีน้ำเงินและสีม่วงไว้มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นวัตถุที่มีสีม่วงและสีนํ้าเงินไม่ชัดและไม่สามารถแยกความแตกต่างของสี 2 สีนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ผู้สูง อายุจะมองเห็นวัตถุสีแดงและสีเหลืองได้ชัดเจนดีมาก เนื่องจากเลนซ์ตาที่กลายเป็นสีเหลืองมากขึ้นนี้ยอมให้แสงสีเหลืองและสีแดงผ่านได้ดี ผลอีกประการหนึ่งจากการที่เลนซ์ตาขุ่นคือ ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้น เพื่อการมองที่ชัดเจน และการมองเห็นเกี่ยวกับความลึกลดลง เนื่องจากการตอบสนองของจอตาต่อแสงที่ไปกระตุ้นถูกขัดขวาง จึงทำให้ความสามารถในการเพ่งมอง (light accumulation) ลดลง และถ้าเลนซ์ตาขุ่นมากจนมีลักษณะทึบแสงเรียกว่า เป็นต้อกระจก ลานสายตา แคบลง มองเห็นสิ่งรอบข้างได้ลดลง เกิดจากเลือดไปเลี้ยงจอตาน้อยลง ทำให้มีการเสื่อมของจอตา เวลาเดินอาจชนสิ่งของที่อยู่ข้างทางเพราะมองไม่เห็น แต่ภาพที่มองเห็นวัตถุข้างหน้าค่อนข้างจะชัดเจน แต่ถ้ามีการเสื่อมของแมกคูล่า ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกตามัวลง อย่างมาก อ่านหนังสือหรือใช้สายตาไม่ได้แต่ยังสามารถเดินได้ ตาจะไม่บอดสนิท แต่ไม่สามารถทำงานที่ละเอียดได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะจอตาส่วนแมกคูล่า มีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง

1.7.2 หู การเปลี่ยนแปลงของหูชั้นนอก มีขี้หูมากขึ้น หูชั้นกลางมีการเปลี่ยนแปลงของแก้วหู คือมักจะแข็งและฝ่อ ส่วนหูชั้นในและหลังโฆเคลีย มีการตายของเซลล์ขนตรงบริเวณก้นหอย ซึ่งมักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงร่วมกับมีของเหลว (Endolymp) อยู่ภายในก้นหอยมากขึ้น ทำให้ผนังบวมกดดันเซลล์ขนจนในที่สุดเซลล์ขนตาย ก่อนตายอาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหมือนมีเสียงในหู เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน การได้ยินลดลงซึ่งจะสูญเสียการได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงมากกว่าเสียงที่มีความถี่ตํ่า การสูญเสียการได้ยินทำให้ผู้สูงอายุถูกตัดขาดจากสิ่งแวดล้อม เมื่ออยากได้ยินเสียงอาจต้องขอร้องให้ผู้พูดพูดเสียงดัง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการพูดตวาดก็ได้ หรือลูกหลานอาจแสดงอาการหงุดหงิด ถ้าผู้สูงอายุฟังไม่รู้เรื่อง

1.7.3 ลิ้น จำนวนปมรับรส ที่ยังทำงานได้ลดลงจากเดิมถึง 80% คือเหลือเพียงประมาณ 1/3 เท่านั้น ทำให้การรับรสได้ไม่ดี โดยเฉพาะรสหวาน ซึ่งมีปุ่มรับรสอยู่บริเวณปลายลิ้นจะสูญเสียก่อนทำให้ผู้สูงอายุต้องรับประทานอาหารที่หวานจัดขึ้นจึงจะรู้สึกว่าหวานชื่นใจ ต่อมาจะสูญเสียการรับรสเค็มก็มีส่วนทำให้ผู้สูงอายุชอบอาหารที่มีรสเค็มจัดขึ้นเช่นกัน ปุ่มรับรสที่เสียช้าที่สุด คือรสขมและรสเปรี้ยว แต่ผู้สูงอายุก็รับประทานอาหารที่มีรสขม เช่น มะระได้ดี กว่าวัยหนุ่มสาว จากการที่ปุ่มรับรสเหลือน้อยลงประกอบกับการมีนํ้าลายในปากน้อยลง และ จมูกรับกลิ่นได้ลดลง จึงทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้ง่าย

1.7.4 จมูก ความสามารถในการรับกลิ่นของผู้สูงอายุลดลง เนื่องจากจำนวนใยประสาทรับกลิ่นมีจำนวนน้อยลง ความสามารถในการรับกลิ่นลดลงนี้ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องอยู่คนเดียวเพราะอาจไม่ว่องไวต่อกลิ่น ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายจากไฟไหม้ กลิ่นแก๊สรั่ว หรือกลิ่นอันเกิดจากไฟช็อตก็ได้ นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางรายอาจจะรับประทานอาหารที่บูดโดยไม่ทราบเพราะทั้งจมูกดมกลิ่นและลิ้นรับรสเสียไปก็ได้

1.7.5 ผิวหนัง ความรู้สึกจากการสัมผัสที่ผิวหนังลดลง อาจทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย เพราะความรู้สึกต่อแรงกดและความเจ็บปวดลดลง

1.8 ระบบทางเดินอาหาร การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่

1.8.1 ฟัน ฟันมักจะหักเหลือน้อยซี่ลง ที่เหลืออยู่มักจะโยกคลอนไม่แข็งแรง พอที่จะขบเคี้ยวอาหารแข็ง บางคนต้องใส่ฟันปลอม ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารที่มีลักษณะเหนียวและอาหารที่มีก้างหรือกระดูก ลักษณะของฟันที่ยังเหลืออยู่ก็มีลักษณะยาวขึ้นเนื่องจากเหงือกร่นลงประกอบกับร่างกายสร้างเคลือบรากฟัน (sementum) เพื่อต่อรากฟันให้ยาวขึ้นเพื่อชดเชยกับการสึกของปุ่มฟันจากการใช้บดเคี้ยวอาหาร สีของฟันในผู้สูงอายุมักจะเป็นสีเหลืองกว่าวัยหนุ่มสาว เกิดจากเคลือบฟันบางลงทำให้เห็นเนื้อฟัน (dentine) ซึ่งมีสีเหลืองชัดเจนขึ้น โพรงประสาทฟันในผู้สูงอายุเล็กลง ประกอบกับเซลล์ประสาทในโพรงประสาทฟันมีน้อยลง จึงมีผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกเสียวฟันน้อยลงกว่าวัยหนุ่มสาว อวัยวะยึดตัวฟันอันประกอบด้วยกระดูกเบ้าฟัน (alveolar bone) สลายตัวไปทำให้ฟันไม่แข็งแรงเพราะฝังอยู่ในกระดูกเป็นส่วนน้อย (Mjor, Ivar A.1986:94-100) ต่อมนํ้าลายขับนํ้าลายน้อยลง นํ้าลายมีลักษณะเหนียวมากขึ้น ประกอบการกับการรับรสและกลิ่นไม่ดี ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการเบื่ออาหาร

1.8.2 หลอดอาหาร การเคลื่อนไหวของหลอดอาหารลดลง จะรู้สึกอาหารติดคอถ้ารับประทานเร็ว หลอดอาหารมักขยายใหญ่ออก หูรูดของหลอดอาหารคลายตัว นํ้าย่อยในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบได้ง่าย และผู้ป่วยจะรู้สึกแสบ หน้าอก

1.8.3 กระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง ขับนํ้าย่อยคือกรดเกลือ (HCI) ได้น้อยลงกว่าวัยหนุ่มสาวถึง 35% ทำให้ย่อยโปรตีนได้น้อยลง และยังทำให้การดูดซึมเหล็ก แคลเซียมและวิตามินบี 12 ลดลง ซึ่งอาจเกิดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของกรดด่าง ปริมาณการไหลเวียนเลือด และการเจริญเติบโตของบักเตรีบางชนิดด้วย การที่กระเพาะอาหารบีบตัวได้ช้าลงทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานขึ้น

1.8.4 ลำไส้ ตลอดความยาวของลำไส้มีการฝ่อของเยื่อบุเป็นหย่อมๆ ประกอบกับนํ้าย่อยจากกระเพาะลดลง เซลล์ที่ทำหน้าที่ดูดชึมมีน้อยลง และเลือดมาเลี้ยงลำไส้ลดลง ทำให้การดูดซึมลดลง ผู้สูงอายุมักมีอาการท้องผูกเนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ช้าลง ร่วมกับการขับเมือกของลำไส้ใหญ่มีน้อยลง กากอาหารที่ผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่จะดูดซึมนํ้ากลับไปมาก จึงทำให้อุจจาระแห้งมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงท้องผูกได้ง่าย (Eliopoulos, 1987 : 56-57)

1.9 ระบบทางเดินปัสสาวะ มีการเปลี่ยนแปลงคือ

1.9.1 ไต ขนาดของไตเล็กลง เพราะมีการสูญเสียเซลล์ประมาณ 0.6% ต่อปี ซึ่งมีผลให้การทำงานลดลงถึง 40-60% เมื่ออายุ 75 ปี เลือดไหลผ่านไตลดลงถึง 53% ทำให้ประสิทธิกาพการกรองลดลง ค่าอัตรากรอง (Glomerulo Filtration Rate) ของคนอายุ 90 ปี ลดลงจากคนอายุ 20 ปี ถึง 50% การดูดซึมนํ้ากลับของทิวบูล (tubule) ของไตลดลงทำให้ปัสสาวะของผู้สูงอายุเข้มข้นน้อยลงคือค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะของผู้สูงอายุประมาณ 1.024 ขณะที่ของคนหนุ่มสาวสูงถึง 1.032 บางรายอาจมีโปรตีนในปัสสาวะเท่ากับ 1+ โดยไม่มีโรคไต จากประสิทธิภาพการกรองของไตลดลงทำให้ค่า บี ยู เอ็น (BUN=Blood Urea Nitrogen) ของคนอายุ 70 ปี เท่ากับ 21.2 ม.ก.% ในขณะที่คนอายุ 30-40 ปี เท่ากับ 12.9 ม.ก.% (Eliopoulos, 1987 : 57-58)

1.9.2 กระเพาะปัสสาวะ การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ร่วมกับภาวะหย่อนยานของกระบังลม ทำให้มีปัสสาวะค้างในกระเพาะหลังถ่ายปัสสาวะ ประกอบกับกระเพาะปัสสาวะจุนํ้าปัสสาวะได้น้อยลงจาก 500 ซีซี. เหลือเพียง 250 ซีซี. จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มง่าย ทำให้ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่มี เลือดไหลผ่านไตมาก หูรูดของกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานโดยเฉพาะในหญิงสูงอายุที่ผ่านการคลอดบุตรหลายคน ร่วมกับการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอเกิดปัสสาวะเล็ดขณะไอหรือจาม (Stress Incontinence of Urine) ทำให้สูญเสียภาพ ลักษณ์ของตน

1.9.3 การขับถ่ายปัสสาวะ ในผู้ชายที่อายุเกิน 50 ปี มักมีต่อมลูกหมากโต ทำให้อุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะลำบาก มีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะมาก ปัสสาวะออกช้าและสายปัสสาวะไม่พุ่งซึ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกทรมานมากและกังวลเมื่อต้องเดินทางไกล

1.10 ระบบต่อมไร้ท่อ ต่อมไร้ท่อต่างๆ จะเริ่มเสื่อมลงได้แก่

1.10.1 ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary Gland) มีขนาดเล็กลง มีพังผืดเกิดขึ้นที่ต่อมเลือดมาเลี้ยงต่อมน้อยลง

1.10.2 ต่อมไทรอยด์ มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยคือ มีพังผืดและเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด ลิมโฟไซท์ สอดแทรกอยู่ในต่อม ปริมาณฮอร์โมนในเลือดคือ ที 4 (T4) และที 3 (T3) อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่า ไอโอดีน อัฟเทค (Iodine Uptake) ลดลง ปริมาณไทโรแคลซิโดนิน (Thyrocalcitonin) ลดลง

1.10.3 ต่อมพาราไทรอยด์ ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดเปลี่ยนแปลง หรือไม่ยังไม่ทราบแต่ทราบว่ามีความไวเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากเอสโตรเจนลดลง ซึ่งมีผลให้แคลเซี่ยมหลุดออกจากกระดูกทำให้กระดูกบางลง (Greegerman and Bierman 1971 : 191-1212 quoted in Holem-Pen-dersen, and Loe, 1986 : 48)

1.10.4 ต่อมหมวกไต ต่อหมวกไตส่วนเปลือกยังมีการหลั่งคอร์ติซอลปกติ การตอบสนองของฮอร์โมน อัลโดสเตอร์โรน (aldosterone) โดยการจำกัดเกลือพบว่าจะขับฮอร์โมนนี้ออกมาเพียง 30-40% ของคนอายุน้อย เรนิน (Renin) มีค่าลดลงและไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น

1.10.5 ตับอ่อน มีขนาดเล็กลง บางรายมีไขมันสอดแทรกอยู่ในต่อมอินซูลินในเลือดปกติ แต่การตอบสนองต่อกลูโคสในระยะแรก และระยะท้าย (Late Phase of Insulin) จะลดลงทำให้ค่านํ้าตาลในเลือดหลังอาหารในชั่วโมงที่หนึ่งเพิ่มขึ้น 9.5 ม.ก. ต่อเดซิลิตร ทุก 10 ปี ของอายุที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงระดับที่สูงขึ้นของไกลโคไซเรท ฮีโมโกลบิน (Glycosyrate Hemoglobin) ซึ่งเป็นตัวที่มีผลในปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและทำให้เกิดต้อกระจกที่ตาได้ (ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ และ อุรุวรรณ วลัยพัชรา 2533 : 12)

1.10.6 ต่อมเพศชาย ลูกอัณฑะจะฝ่อลงและมีลักษณะแข็งขึ้น การสร้างเชื้ออสุจิน้อยลงประมาณ 30% ในคนอายุ 60 ปี เมื่อเทียบกับคนอายุ 25-30 ปี และลดลงร้อยละ 20 ในคนอายุ 80 ปี เมื่อเทียบกับคนอายุ 60 ปี ระดับเทสโทสเตอร์โรนในเลือดลดลง

1.10.7 ต่อมเพศหญิง พบว่ารังไข่ฝ่อ และหยุดการตอบสนองต่อ เอฟ เอส เอช ต่อมใต้สมอง ในคนอายุ 80-90 ปีจะเห็นรังไข่เหลือเพียงเศษเนื้อขึ้นเล็กๆ เท่านั้น

1.11 ระบบสืบพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์นั้นเป็นผลจากระดับฮอร์โมนเพศลดลงคือ เอสโตรเจนในเพศหญิง และ เทสโทสเตอร์โรนในเพศชาย

1.11.1 อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง พบว่า เต้านมจะหย่อนยาน หัวนมเล็กลง และเนื้อเยื่อของเต้านมมีไขมันมากขึ้น อวัยวะเพศภายนอกเหี่ยวลงเพราะมีไขมันใต้ผิวหนังลดลง ขนบริเวณอวัยวะเพศมีน้อยลง แคมนอก (labia) แบนราบลง ช่องคลอดมีสีชมพูและแห้ง การ ยืดขยายมีน้อยลง เซลล์ผิวของช่องคลอดบางและไม่มีเส้นเลือด ภายในช่องคลอดมีสภาพเป็นด่างมากขึ้นทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และชนิดของบักเตรีในช่องคลอดแตกต่างไปจากวัยอื่นๆ (Elipoulos, C. 1987 : 57-59) ปากมดลูกเหี่ยวเล็กลง มดลูกมีขนาดเล็กลง เยื่อบุมดลูก(Endometrium) มักไวต่อการถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมน

ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือนได้ง่ายและเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงทำให้อิทธิพลของฮอร์โมนเอ็นโดรเจนมีมากขึ้น ทำให้ผู้ สูงอายุหญิงบางรายมีขนบริเวณใบหน้า การตอบสนองของอวัยวะเพศหญิงขณะมีสัมพันธ์ทางเพศแตกต่างไปจากวัยสาว ซึ่งเมื่อพิจารณาตามระยะต่างๆ ของวงจรการร่วมเพศ จะได้รายละเอียดดังต่อไปนี้คือ (Jones 1981 : 47-48)

1. ระยะตื่นเต้น (Excitement Phase) เป็นระยะที่เมือกหลั่งเข้าสู่ช่องคลอด ในผู้สูงอายุจะมีเมือกหลั่งเข้าสู่ช่องคลอดน้อยลงและต้องใช้เวลานานมากขึ้นกว่าจะมีเมือกหลั่งออกมา การขยายตัวของช่องคลอดลดลงปริมาณ 2/3 ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ซึ่งอาจเป็นผลจากกล้ามเนื้อฝ่อ มีเลือดมาคั่งที่แคมน้อย (labia minora) น้อยลง มดลูกอาจจะแข็งตัวและยกสูง ขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจไม่แข็งตัวเลย ปกติระยะนี้ใช้เวลาภายใน 10 วินาที นานหลายๆ นาที จนหลายชั่วโมง

2. ระยะกำหนัดสูง (Plateau Phase) เป็นระยะที่มีเลือดมาคั่งมากขึ้น ในผู้สูงอายุการคั่งของเลือดบริเวณอวัยวะเพศลดลง ช่องคลอดจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1/3 ความตึงตัวของแคมน้อยน้อยกว่าวัยสาว ระดับมดลูกสูงขึ้นเหมือนวัยสาวแต่การแข็งตัวน้อยกว่าและเลือดคั่งที่อิถีลึงค์ (Clitoris) น้อยลง ปกติระยะนี้ใช้เวลา 30 วินาทีจนหลายๆ นาที

3. ระยะสุดยอด (Orgasmic Phase) เป็นระยะที่มีการบีบรัดตัวของช่องคลอดซึ่งปกติประมาณ 3-12 ครั้ง แต่ในผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงคือ จำนวนครั้งของการบีบรัดตัวของช่องคลอดน้อยครั้งลง บางคนอาจรู้สึกเจ็บขณะช่องคลอดมีการหดรัดตัว แต่ส่วนใหญ่ยังคงได้รับความพึงพอใจจากการร่วมเพศ ปกติระยะนี้มีช่วงเวลาสั้นเพียง 3-15 วินาที เท่านั้น

4. ระยะคลายตัว (Resolution Phase) เป็นระยะที่เลือดค่อยๆ ไหลเวียนออกจากอวัยวะเพศ โดยทั่วไประยะนี้อวัยวะเพศจะคลายตัวได้เร็วกว่าวัยสาว โดยเฉพาะการคืนสู่สภาพเดิมของอิถีลึงค์กับช่องคลอด ปกติระยะนี้นาน 2-6 ชั่วโมง

1.11.2 อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย พบว่าขนที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกบางลง เนื่องจากระดับเทสโทสเตอร์โรนลดลง หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงลึงค์ และหลอดเลือดดำมีลักษณะแข็ง ยืดหยุ่นได้น้อยและมีพังผืดเกิดขึ้นในลึงค์ น้ำอสุจิมีความเข้มข้นลดลง และเชื้ออสุจิ มีจำนวนลดลง การตอบสนองของอวัยวะเพศชาย ขณะมีสัมพันธุ์ทางเพศคือ (Jones 1981 : 48- 50)

1. ระยะตื่นเต้น ต้องใช้เวลานานกว่าวัยหนุ่ม 2-3 เท่า ในการทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว แต่แข็งตัวได้นานกว่า อัณฑะมีเลือดคั่งและการตึงตัวน้อยกว่า ลูกอัณฑะไม่สามารถยกสูงขึ้นได้ การขยายตัวของลึงค์ไม่มากเท่าวัยหนุ่มเพราะเลือดคั่งไม่มาก

2. ระยะกำหนัดสูง ในระยะนี้ลึงค์จะไม่ตั้งตรงจนกว่าจะถึงช่วงท้ายๆ ของระยะนี้ ระยะนี้อาจจะนานเพราะชายสามารถควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิได้ดี ลูกอัณฑะยกสูงได้น้อยลงและมีเลือดคั่งที่ลูกอัณฑะลดลง หรือไม่มีการยกลูกอัณฑะสูงเลยก็ได้

3. ระยะสุดยอด จำนวนครั้งและความแรงของการหดเกร็งของลึงค์ลดลงทำให้แรงพุ่งของนํ้าอสุจิลดลงจาก 12-14 นิ้ว ในวัยหนุ่มเหลือเพียง 6-12 นิ้วเท่านั้น

4. ระยะคลายตัว ถ้ามีการยกตัวของลูกอัณฑะในระยะตื่นเต้น ก็จะคลายตัวกลับลงมาเร็วกว่าวัยหนุ่ม แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีเพราะเลือดมาคั่งน้อยลง และต้องใช้เวลานานจึงจะทำให้แข็งตัวได้อีก การเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์เหล่านี้ เริ่มมีมาก่อนจะเข้าสู่วัยสูงอายุและเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเห็นชัดเจนขึ้น ผู้สูงอายุจึงต้องการความเข้าใจ ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับสัมพันธุ์ทางเพศ เพื่อลดข้อขัดแย้งและกล่าวโทษซึ่งกันและกันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตและอารมณ์  การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่สำคัญได้แก่

2.1 บุคลิกภาพ จากการศึกษาของแมคคอยและคณะ (McCoy and others 1980 : 877-883 quoted in Murray, and Zentner 1985 : 580) พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพเกิดขึ้นแม้มีอายุมากขึ้น ลักษณะบุคลิกภาพจะยังคงเป็นไปเช่นเดียวกับวัยที่ผ่านมา และจะยิ่งมีลักษณะที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น คนที่เคยพูดมากก็จะยังคงเป็นคนพูดมากอยู่เหมือนเดิม หรือ อาจจะคุยมากขึ้นส่วนผู้ที่เงียบเฉยก็จะยังคงเงียบเฉยเช่นเดิม ตราบเท่าที่ร่างกายยังมีความแข็งแรง ผู้สูงอายุยังคงเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม และคงเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมเช่นเดียวกับวัยที่ผ่านมา ลักษณะดังกล่าวจะเป็นอยู่ต่อไปอย่างราบรื่นตามสภาพของร่างกายและสถานการณ์ในชีวิตที่ประสบ แต่เมื่อไรก็ตามที่ผู้สงอายุรู้สึกว่าอยู่ร่วมกับผู้ที่อ่อนวัยกว่าค่อนข้างลำบาก หรือ ผู้ที่อ่อนวัยกว่ารู้สึกหนักใจที่จะอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ บุคลิกภาพที่มีลักษณะแฝงก็จะปรากฎออกมาชัดเจนขึ้น จนบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าบุคลิกภาพของผู้สูงอายุ คือเป็นผู้ที่มีความยึดมั่น อนุรักษ์นิยม เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่และความคิดเห็นไม่ค่อยลงรอยกับผู้อื่น

ลักษณะการใช้อำนาจและพยายามบังคับขู่เข็ญผู้อื่นก็พบได้บ่อยขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะที่พบเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นลักษณะที่แฝงอยู่ในบุคคลนั้นๆ มาก่อน แต่ไม่มีโอกาสแสดงออก หรือแสดงออกมาโดยใช้กลไกทางจิตใจซึ่ง นิวการ์เทน (Neugarten, 1973 : 356-366 Quoted in Murray, and Zentner, 1985 : 583) กล่าวว่าลักษณะดังกล่าวพบได้ในผู้สูงอายุหญิงมากกว่าผู้สูงอายุชาย คือ ผู้สูงอายุหญิง มักจะแสดงออกถึงความก้าวร้าว และเอาแต่ใจตนเองมากขึ้น เพื่อให้ผู้อื่นยอมรับในความมีคุณค่าของตน ส่วนผู้สูงอายุชาย มักจะแสดงออกโดยการยอมรับทำตามข้อชี้แนะของผู้อื่น ต้องการพึ่งพาผู้อื่น และต้องการการดูแลเอาใจใส่จากผู้อื่น พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นเพราะชายสูงอายุ สามารถทำใจกว้างยอมรับความจริงเกี่ยวกับตัวเองว่าไม่ได้อยู่ในบทบาทของหัวหน้างาน

และไม่ต้องแข่งขันในโลกของการทำงานอีกต่อไปก็ได้ และ นิวการ์เทน (Neugarten, 1973 : 356- 366 Quoted in Murray, and Zentner, 1985 : 580-583) ได้แบ่งบุคลิกภาพของผู้สูงอายุออกเป็น 4 แบบคือ

2.1.1 แบบผสมผสาน (integrated personality) เป็นลักษณะผู้สูงอายุที่พบได้ทั่วไปผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมได้ดี สติปัญญายังดีอยู่ เป็นคนมีความยืดหยุ่น สนใจสิ่งแวดล้อมรอบๆ มีอารมณ์ดี สามารถปรับตัวต่อการสูญเสียและอยู่กับโลกของความจริง มีความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต บุคลิกภาพในกลุ่มนี้ ยังแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ

1. แบบจัดกิจกรรม (organizers) คือ ผู้ที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย เมื่อสูญเสียบทบาทอย่างหนึ่งไปหรือขาดกิจกรรมอย่างหนึ่งไป จะหากิจกรรมใหม่มาทำจนมีกิจกรรมเท่ากับก่อนเกษียณ

2. แบบเลือกกิจกรรม (focused) เป็นผู้สูงอายุที่เลือกทำกิจกรรมบางอย่างที่อยากทำเท่านั้น และจะอุทิศแรงกายและแรงใจทั้งหมดกับกิจกรรมใหม่ที่เลือกและเห็นว่าสำคัญ มากกว่าจะนำไปร่วมกิจกรรมหลายๆ กิจกรรม

3. แบบปล่อยวาง (disengaged) เป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง สนใจสิ่งแวดล้อมและโลกภายนอก แต่สมัครเป็นผู้ดูมากกว่าสนใจเข้าไปปฏิบัติเอง เป็นผู้ที่ปล่อยวางบทบาทและภาวะหน้าที่ต่างๆ โดยไม่รู้สึกว่าเสียดายแต่อย่างใด เป็นคนชอบสงบ และมีความพึงพอใจในชีวิต

2.1.2 แบบปกป้องตนเอง (defensed personality) เป็นบุคลิกของผู้ที่มองตนเองว่าทำงานประสบผลสำเร็จมาโดยตลอด เป็นคนที่ผลักดันตนเองให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา และต้องการจะเป็นเช่นนั้นอยู่เรื่อยๆ ผู้สูงอายุเหล่านี้ต้องการจะปกป้องตนเอง โดยต่อสู้กับความวิตกกังวล บุคลิกภาพแบบปกป้องตนเองนี้ ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

1. แบบยึดมั่นถือมั่น (holding) คือบุคคลที่ยังพยายามคุมอำนาจของผู้อื่นไว้โดยมีปรัชญาว่า “ฉันจะทำงานจนกว่าชีวิตจะหาไม่” ดังนั้นตราบเท่าที่ผู้สูงอายุยังทำให้ตนเองยุ่งกับงานได้ ท่านก็จะยังคงควบคุมความวิตกกังวลไว้ได้และรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า

2. แบบสังคมแคบ (constricted) คือ ผู้ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการสูญเสียและข้อจำกัดของตนจะไม่เปิดรับประสบการณ์ใหม่ มีสัมพันธภาพกับสังคมน้อย อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยังคงเป็นผู้ที่มีความพึงพอใจในชีวิต อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรแตกต่างกัน ระหว่างผู้สูงอายุกับไม่สูงอายุ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีสุขภาพจิตดี

2.1.3 บุคลิกภาพแบบพึ่งพาผู้อื่น (passive dependent personality) เป็นผู้สูงอายุที่ไม่อาจอยู่ได้อย่างอิสระหรือตามลำพังตนเอง แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

1. แบบพึ่งพาสังคม (succorance seeking) เป็นผู้สูงอายุที่ต้องการพึ่งพาผู้อื่นอย่างมาก จะแสวงหาความช่วยเหลือ และแรงสนับสนุนจากคนอื่น ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะยังคงอยู่ในสังคมได้ตราบเท่าที่ยังมีผู้อื่นให้พึ่งพาหนึ่งหรือสองคน เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมและพึง พอใจในชีวิตปานกลาง

2. แบบทิ้งสังคม (apathetic) ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสังคมน้อยมากและรู้สึกว่าชีวิตดำเนินไปด้วยความยากลำบาก มักเกิดจากมีความพึงพอใจในชีวิตที่ผ่านมาค่อนข้างตํ่า

2.1.4 บุคลิกภาพแบบขาดการผสมผสาน (disintegrated หรือ disorganized per­sonality)

เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัยสูงอายุได้ ทำให้มีอาการทางจิต และประสาท ซึ่งพบได้น้อย ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยังไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์

2.2 ลักษณะอารมณ์ ลักษณะทางอารมณ์ของผู้สูงอายุจะเป็นไปในรูปใดขึ้นอยู่กับพัฒนาการในวัยที่ผ่านมา ถ้าในวัยที่ผ่านมานั้นผู้สูงอายุประสบความสำเร็จในภาระงาน พัฒนา การจะทำให้ผู้สูงอายุมีลักษณะอารมณ์ที่เหมาะสม โดยสามารถมองย้อนไปถึงอดีตแล้วประจักษ์ในชีวิตของตนว่ามีค่าและน่าพอใจ มีผลให้ผู้สูงอายุมีสภาพจิตใจที่เป็นสุขสมหวัง และพึงพอใจ ในสภาพเป็นอยู่ปัจจุบัน แต่ถ้าปฏิบัติภาระงานพัฒนาการในวัยที่ผ่านมาไม่สำเร็จ จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองดำเนินชีวิตมาอย่างผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ทำให้รู้สึกขมขื่น รู้สึกผิดหวัง หรือรู้สึกบาป ทำให้เป็นคนใจน้อยและกระทบกระเทือนใจได้ง่าย รู้สึกหมดอำนาจ สงสารตัวเอง ไร้คุณค่า มีปมด้อยหรืออาจแสดงออกมาในรูปของความฉุนเฉียว โกรธ หงุดหงิด จู้จี้จุกจิก กังวล รำคาญ หรือมีทิฐิ ไม่ไว้ใจใคร แยกตนเองออกจากสังคม ประกอบกับสมรรถภาพทางกายที่เสื่อมถอย การพลัดพรากจากกันของเพื่อนวัยเดียวกัน การตายจากของคู่ครอง การแยกครอบครัวของบุตรหลาน การเปลี่ยนแปลงบทบาทและฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ผู้สูงอายุเป็นคนที่มีความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ อ้างว้าง สิ้นหวัง ท้อแท้ หรือเศร้าใจได้ง่าย ความรู้สึกดังกล่าวจะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น ถ้าผู้สูงอายุต้องสูญเสียการยอมรับนับถือตนเอง (self-esteem) อันเนื่องมาจากขาดความเป็นอิสระในการช่วยเหลือตนเอง ต้องพึ่งพาผู้อื่น ต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน การพึ่งพาผู้อื่นเป็นบ่อนทำลายการยอมรับนับถือตนเอง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ให้คุณค่าของการพึ่งตนเอง ผู้สูงอายุมักจะขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ มักจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะต้องเสี่ยง จะสนใจเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง มักจะสนใจในสิ่งที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อตน และมักจะคิดว่าผู้อื่นไม่ให้ความสนใจหรือไม่ให้เกียรติ

3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบทบาทในสังคม สถานภาพของผู้สูงอายุในสังคม และความสัมพันธ์ทางสังคม คือ

3.1 บทบาทในสังคม ผู้ที่มีอาชีพรับราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ ลูกจ้างบริษัทต่างๆ ย่อมต้องมีการเกษียณอายุตามระเบียบของสถานที่ปฏิบัติงานนั้นๆ การเกษียณอายุทำให้ผู้สูงอายุต้องสูญเสียบทบาทที่เคยเป็นอยู่ในสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้แบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ (Atchley, 1976 531-538)

3.1.1. ระยะก่อนเกษียณ (pre-retirement phase) แบ่งเป็นระยะย่อยคือ

1. ระยะไกลเกษียณ (remote phase)
เป็นระยะที่บุคคลมองการทำงานว่ายังมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกมาก ระยะนี้อาจเริ่มตั้งแต่คนเริ่มเข้าทำงานและสิ้นสุดเมื่อเริ่มรู้สึกว่าการปลดเกษียณเริ่มใกล้เข้ามา ในระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเตรียมตัวเกษียณโดยเฉพาะการเตรียมด้านการเงิน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าระยะยาว นอกจากนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเลือกงานอดิเรกที่ตนสนใจทำ ทักษะนี้อาจเรียนรู้หลังจากเกษียณก็ด้ แต่การฝึกทักษะหลายๆ อย่าง จะทำได้โดยง่ายเมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาว เพราะวัยหนุ่มสาวหาสถานที่สำหรับเรียนได้ง่าย และลักษณะการเรียนของวัยหนุ่มสาวเป็นแบบชอบแสวงหาทักษะใหม่ๆ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ก็ทำได้ง่ายกว่าวัยกลางคน

การเตรียมอีกอย่างหนึ่งก็คือเตรียมสุขภาพเพื่อให้ตนมีสถานภาพสุขภาพดีหลังเกษียณ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุ ช่วยเหลือตนเองได้ การปรับตัวเข้ากับภาวะเกษียณอย่างราบรื่นมีความสัมพันธ์กับการเงินและการปรับตัวของบุคคลและการมีสุขภาพดี ระยะไกลเกษียณนี้เป็นระยะที่จำเป็นเพื่อความพร้อมหลังเกษียณ แต่มักจะเป็นระยะที่ถูกละเลยมากที่สุด

2. ระยะใกล้เกษียณ (near phase of retirement) เริ่มเมื่อบุคคลคิดว่าอีกไม่ช้า ตนจะต้องออกจากงานกลายเป็นผู้อยู่ในบทบาทเกษียณ (retirement role) ระยะนี้ในต่างประเทศ บริษัทจะจัดให้ลูกจ้างได้เข้าโปรแกรมการสอนก่อนเกษียณซึ่งเป็นการเริ่มต้นของระยะนี้ หรือ อาจจะเริ่มโดยเพื่อนรุ่นก่อนได้เกษียณไป เจตคติของผู้ที่จะเกษียณมักมองการเกษียณในแง่ลบ ว่าเป็นระยะที่ทำให้ต้องออกจากงาน รายได้จะน้อยลง ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ระยะนี้คนจะเริ่มหาแนวทางหรือวางแผนว่าหลังจากวันเกษียณแล้วจะไปทำอะไรบ้าง นายจ้างมักจะจัดโปรแกรม ก่อนเกษียณให้ลูกจ้างได้รับทราบเกี่ยวกับการใช้เวลาว่างและการวางแผนด้านการเงิน โดยมักจะลืมเรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นโปรแกรมที่ทำให้คนเกิดความมั่นใจและคลายความวิตกกังวล เกี่ยวกับการเกษียณลง แต่เป็นระยะที่อาจจะสายเกินไปสำหรับการเตรียมด้านการเงิน ในระยะใกล้เกษียณนั้นบุคคลจะปฏิบัติตนแตกต่างไปจากคนทำงานรายอื่นๆ และมักคิดฝันถึงระยะเกษียณ

3.1.2 ระยะเกษียณ คือวันที่คนไม่ต้องไปทำงาน ซึ่งเป็นวันหลังจากเหตุการณ์เกษียณ (retirement event) ระยะเกษียณ แบ่งเป็น 4 ระยะย่อย คือ

1. ระยะนั้าผึ้งพระจันทร์ (honeymoon phase) เป็นระยะที่ผู้อยู่ในบทบาทเกษียณรู้สึกเป็นอิสระจากงาน เป็นระยะที่บุคคลรอคอย เพื่อจะได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่คิดอยากจะทำมานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาส ระยะนี้เป็นระยะที่มีกิจกรรมมาก บุคคลที่อยู่ในระยะนี้จะคล้ายกับเด็กที่เข้าไปอยู่ในห้องซึ่งเต็มไปด้วยของเล่นใหม่ๆ ที่อยากจะเล่นทุกอย่างพร้อมๆ กัน แต่ผู้อยู่ในบทบาทเกษียณไม่ได้อยู่ในระยะนี้ทุกคน บางคนไม่สามารถที่จะทำได้เพราะขาดเงิน ระยะนี้อาจจะสั้นมากหรือยาวเป็นปี แต่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาระยะนี้ไว้ได้นาน งานหลังเกษียณควรจะเป็นงานที่สร้างความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุ

2. ระยะปลงตก (disenchantment phase) อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวกับการเกษียณได้ หลังจากระยะน้ำผึ้งพระจันทร์สิ้นสุดลง คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า การอยู่ในบทบาทผู้เกษียณไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายนัก ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะรู้สึกซึมเศร้า สงสารตัวเอง และจะรู้สึกว่าระยะนํ้าผึ้งพระจันทร์เป็นระยะของการเพ้อฝัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการวางแผนเลือกกิจกรรมระยะเกษียณ เมื่อเวลาผ่านไป คนส่วนใหญ่จะผ่านระยะนี้ เข้าสู่ระยะต่อไปได้ แต่มีบางคนจะติดอยู่ในระยะนี้ ซึ่งต้องให้การช่วยเหลือเพื่อเข้าสู่ระยะที่ 3

3. ระยะฝึกใหม่ (reorganization phase) ระยะนี้จำเป็นสำหรับคนที่ไม่สามารถพัฒนาความพึงพอใจในระยะเกษียณได้เป็นระยะที่ผู้อยู่ในบทบาทเกษียณแสวงหาทางเลือกใหม่ เช่น หางานใหม่ ลองงานเดิมด้วยวิธีใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานนี้ได้อย่างน่าพอใจ

4. ระยะเข้ารูปเข้ารอย (stability phase) หลังจากได้ลองฝึกงานในระยะที่ 3 ใหม่แล้วระยะหนึ่งรู้สึกว่ามีความพอใจในกิจกรรมที่ทำ คนจำนวนมากผ่านเข้าสู่ระยะนี้ได้เลย หลังจากอยู่ในระยะนํ้าผึ้งพระจันทร์ บางคนผ่านมาถึงระยะนี้อย่างผู้ได้รับบทเรียนอันเจ็บปวด แต่บางคนไม่มีโอกาสผ่านมาถึงระยะนี้เลย ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะทราบว่าตนจะต้องทำตัวตามที่คนอื่นคาดหวังอย่างไร จะทำตามได้มากน้อยเพียงใด

3.1.3 ระยะสิ้นสุดบทบาทผู้เกษียณ (Termination phase) เป็นระยะที่ผู้สูงอายุ สูญเสียบทบาทผู้เกษียณ ซึ่งอาจจะเนื่องจากป่วย พิการ หรือไม่มีกิจกรรมหลัก เช่น ทำงานบ้าน ดูแลตนเอง แสดงว่าผู้สูงอายุนั้นได้ออกจากบทบาทผู้เกษียณไปสู่บทบาทผู้ป่วย หรือผู้ไร้สมรรถภาพ การเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นอยู่กับการสูญเสียความสามารถทางกาย และความอิสระในการช่วยตนเองซึ่งทั้ง 2 อย่างเป็นสิ่งจำเป็นในบทบาทผู้เกษียณ การสูญเสียบทบาทผู้เกษียณอีกอย่างหนึ่งคือการได้งานทำเต็มเวลา (full time)

สิ่งที่เกิดตามมาหลังเกษียณก็คือ การสูญเสียสถานภาพทางสังคม จากผู้ที่เคยมีคนนับหน้าถือตาให้การต้อนรับ มีผู้คอยติดตามดูแลเอาใจใส่เป็นจำนวนมาก ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีคนรู้จัก เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังทำใจยอมรับได้ยาก นอกจากนี้การเกษียณยังทำให้สูญเสียเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเคยได้สังสรรค์หลังเลิกงาน ได้พบปะพูดคุย ปรึกษาหารือขณะทำงาน เมื่อเกษียณไปแล้วโอกาสจะมาพบปะเหมือนเดิมมีน้อยลง เพราะไม่สะดวกในการเดินทางไปพบ ทำให้รู้สึกขาดเพื่อนที่คุ้นเคย มีความแปลกใหม่เข้ามาแทนที่ การออกจากงานยังทำให้รายได้ลดลง ซึ่งรายได้จากการเกษียณมักจะเป็นรายได้ที่คงที่ แต่ค่าของเงินน้อยลงไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้สูงอายุ มีปัญหาทางการเงินตามมาได้ การเกษียณทำให้ผู้เกษียณต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ในวันแรกๆ อาจจะยังปรับตัวไม่ได้ว่าจะใช้เวลาว่างทำอะไรดี เวลาอาจจะผ่านไปอย่างช้าๆ ตามความรู้สึกของผู้เกษียณ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาจทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจตามมาได้ บทบาทภายในครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ คือเปลี่ยนจากการเป็นหัวหน้าครอบครัวมาเป็นผู้พึ่งพาอาศัย ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่ถือระบบเครือญาติเป็นสำคัญ ผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในครอบครัวจึงมักมีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา ผู้สูงอายุมักจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีเพราะเป็นผู้ที่ผ่านประสบการณ์มามาก มีความสุขุมใจเย็น และเป็นผู้ฟังที่ดี จึงเป็นที่พึ่งทางใจของลูกหลานเมื่อประสบกับปัญหาต่างๆ จะคอยปลอบโยนและให้กำลังใจได้เป็นอย่างดี สามี ภรรยามักจะอยู่ด้วยกันฉันเพื่อนมากกว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกัน เป็นเพื่อนคู่คิดดูแลเอาใจใส่และคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน บทบาทของผู้สูงอายุต่อชุมชนมักจะเป็นผู้นำของชุมชน ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวัดพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพิธีกรรมทางศาสนา การอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและยังเป็นผู้เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์เพื่อช่วยเหลือชุมชนได้เป็นอย่างดี

3.2 ความสัมพันธ์ทางสังคม ผู้สูงอายุมีวงสังคมที่จำกัดลง เพราะไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านจึงมีความสัมพันธ์กับบุตรหลานเป็นส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวจะแน่น แฟ้นเพียงใดขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพที่เคยสร้างไว้กับลูกหลานในสมัยที่ลูกหลานยังอยู่ในวัยเด็ก ถ้าสร้างสัมพันธภาพไว้ดี ปัญหาจะไม่มากนัก นอกจากบุคคลในครอบครัวแล้ว ผู้สูงอายุมักจะสร้างส้มพันธภาพกับบุคคลอื่นนอกครอบครัว ซึ่งได้แก่เพื่อนสนิทส่วนตัวตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว หรือเพื่อนที่รู้จักกันเพราะมีความสนใจคล้ายๆ กัน หรือบุคคลในครอบครัว ได้แก่ ลูกหลาน สามีภรรยาก็ได้ สัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมวัยของผู้สูงอายุมีความสำคัญเทียบได้กับระยะวัยรุ่น คนร่วมวัยเข้าใจปัญหาของกันและกัน เห็นอกเห็นใจกันมากกว่า รู้สึกเป็นกันเองและชิดเชื้อกันมากกว่า (ศรีเรือน แก้วกังวาล 2521 : 155) การมีเพื่อนทำให้รู้สึกว่ามีกลุ่มของตน ไม่ว้าเหว่ โดดเดี่ยวหรือไร้ความหมาย

3.3 สถานภาพทางสังคม 
ผู้สูงอายุถือเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมที่ได้รับการปฏิบัติจากสังคมแตกต่างไปจากบุคลอื่น สังคมที่มองว่าผู้สูงอายุมีสถานภาพสูง มักจะเป็นสังคมแบบดั้งเดิม สังคมที่ให้การเคารพนับถือบูชาบรรพบุรุษ สังคมที่มีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนต่อประชากรไม่สูงนัก สังคมแบบเกษตรกรรม และสังคมที่นิยมครอบครัวแบบขยาย (คณะอนุกรรมการศึกษา วัฒนธรรมและกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ 2528 : 10-13) ผู้สูงอายุในสังคมไทย จึงมีสถานภาพสูงในสังคม และได้รับความเคารพนับถือจากบุตรหลานภายในครอบครัวเป็นอย่างดี มีสถานภาพในครอบครัวค่อนข้างสูง (พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์, สินี กมลนาวิน และประเสริฐ รักไทยดี 2523 : บทคัดย่อ)

การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม ทำให้ผู้สูงอายุต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในวัยสูงอายได้อย่างมีความสุข

สรุป
บุคคลแต่ละวัยมีภาระงานพัฒนาการ (developmental task) ที่จะต้องปฏิบัติให้สำเร็จ เพื่อให้สามารถเข้าสู่วัยต่างๆ อย่างมีความสุข และเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติภาระงานพัฒนาการ ในวัยต่อไป ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้สำเร็จ จะทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถปรับตัวให้สมวัยได้ อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมตามมา ผู้ดูแลสุขภาพจำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการของบุคคลแต่ละวัย เพื่อให้สามารถเข้าใจปัญหาสุขภาพอันเกิดจากพัฒนาการตามวัย และสามารถให้การส่งเสริมพัฒนาการ ป้องกันปัญหาอันเกิดจากพัฒนาการบกพร่องและดูแลช่วยเหลือ หรือตอบสนองความต้องการของบุคคลต่างๆ ได้เหมาะสมกับวัยของคนๆ นั้น

ที่มา:แสงจันทร์ ทองมาก
 Previous  All works Next